"5 ธันวาคม ของทุกปี" ได้กลายเป็นวันสำคัญระดับนานาชาติ โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประกาศสนับสนุนให้มีการจัดตั้งวันดินโลก และองค์การสหประชาชาติ (UN) มีประกาศอย่างเป็นทางการให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day)
เพื่อใช้เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนกิจกรรมการรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ทางด้านดิน และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกต่อมนุษยชาติและสภาพแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
ทำให้ วันที่ 5 ธันวาคม 2557 นอกจากเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรแล้วนั้น ยังถือว่าเป็น “วันดินโลก” (World Soil day) อย่างเป็นทางการในระดับสากลครั้งแรกอีกด้วย
สำหรับ “วันดินโลก (World Soil Day)” ปี 2566 นี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกันจัดงาน วันดินโลก ปี 2566 (World Soil Day 2023)
ภายใต้แนวคิด “Soil and Water : a source of life” ดินดี น้ำสมบูรณ์ เกื้อกูลชีวิต ในระหว่างวันที่ 5 - 10 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแนวพระราชดำริการพัฒนาดินเพื่อการทำกิน อยู่อาศัย และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแก่ประชาชนชาวไทยและสังคมโลก สืบไป
ดิน เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เป็นแหล่งผลิตอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิง นอกจากนี้ดิน ยังเป็นทรัพยากรพื้นฐานในการพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน เอื้อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ และบรรเทาผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
แต่นับวันดินจะเสื่อมโทรมลงไปเรื่อย ๆ หากขาดการอนุรักษ์และพัฒนาดินอย่างยั่งยืน ความต้องการใช้ทรัพยากรดินมีเพิ่มมากขึ้น หากมีการเสื่อมสลายไป การใช้ที่ดินผิดประเภท ขาดการอนุรักษ์ และป้องกันหรือแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง จะส่งผลต่อคุณภาพ กำลังผลิตของดิน และกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ ซึ่งหากดินมีความเสื่อมโทรมที่รุนแรงมาก การฟื้นฟูดินจะทำได้ยากขึ้น
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ดิน น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า การทำเกษตรกรรม ของประเทศไทยได้ถูกพัฒนาอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงวางรากฐานการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
ควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี ตามบริบทของภูมิศาสตร์และภูมิสังคม พลิกฟื้นผืนดินที่เสื่อมโทรม สร้างน้ำ ฟื้นฟูป่า คืนความสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพ จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติถึงพระอัจฉริยภาพ