รายงานข่าว (6 ธ.ค. 2566) จากกรมการท่องเที่ยวเผยว่า ได้จัดงานประชุมคืนผลการศึกษา “โครงการการศึกษาความเป็นไปได้และกำหนดรูปแบบการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเนินทรายอย่างยั่งยืน” ด้วยแนวทางการขับเคลื่อน “การท่องเที่ยวเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน กับเส้นทางสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมในมาตรฐานสากล”
ทั้งนี้กรมการท่องเที่ยว ผู้ริเริ่มโครงการฯ ระบุว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และกำหนดแนวทางการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเนินทราย อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อุทยานธรณีเนินทรายอย่างยั่งยืนในอนาคต
ในครั้งนี้ กรมการท่องเที่ยว มีความมุ่งหวังให้เกิดรูปแบบ (Model) การจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบอย่างยั่งยืน และแผนดำเนินวิสาหกิจเพื่อสังคมแหล่งท่องเที่ยวเนินทรายอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมสามารถสร้างความเป็นธรรมทางรายได้จากท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชุมพร รวมถึงจัดทำคู่มือแนวทางสำหรับการจัดตั้งและการบริหารจัดการวิสาหกิจเพื่อสังคม
สำหรับการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกลไกการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยผู้ประกอบการควรคำนึงถึงแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับสากล หรือระดับประเทศ เพื่อให้เห็นความต้องการที่แท้จริงของสังคม และการคิดโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องต่อการพัฒนา
ปัจจุบันประเทศไทยได้เดินหน้าในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีหลายหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนในแผนการดำเนินงาน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าหาหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสร้างเครือข่ายในการทำธุรกิจเพื่อสังคมได้อีกด้วย โดยมองการพัฒนาเป็น 3 ระดับ ได้แก่ การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระดับสากล (Global Sustainable Tourism Criteria) การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในระดับประเทศ และการพัฒนาในระดับพื้นที่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แก้วตา ม่วงเกษม อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการการท่องเที่ยวและการบริการ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้ดำเนินการศึกษาร่วมกับกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า การพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย มีกลไกการขับเคลื่อนที่สามารถทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันได้
ทั้งนี้มีหน่วยงาน และภาคีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนในครั้งนี้ อาทิ หน่วยงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ที่เป็นหน่วยงานในการจดทะเบียนรับรองการเป็นผู้ประกอบการด้านธุรกิจเพื่อสังคม โดยการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกท่านเห็นถึงความสำคัญ มองเห็นปัญหา และจุดประกายให้ร่วมกันแก้ไข โดยการถอดบทเรียนในโครงการนี้ มีกลไกที่ต้องเริ่มวางแผน โดยนำ 5 P มาเป็นองค์ประกอบในการวิเคราะห์ ตั้งแต่ Problems Passion Purpose Partnership และ Participation