ทนายความยื่น“สคบ.”สอบปมปตท.เติมน้ำมันไม่เต็มลิตร

04 ม.ค. 2567 | 08:14 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2567 | 08:43 น.

“ชัชนัย ปานเพชร” ทนายความ ยื่น สคบ. สอบปตท.-ผู้บริหาร ปมเติมน้ำมันไม่เต็มลิตร ชี้เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และ กฎหมายอาญามาตรา 343 ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรม

วันที่ 4 ม.ค.2567 นายชัชนัย ปานเพชร อาชีพทนายความ ตัวแทนผู้บริโภคและประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มทุนและผู้ค้าน้ำมัน เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เรื่อง ร้องเรียนและขอให้ดำเนินคดีกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR) และผู้บริหาร ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ 

เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการเอารัดเอาเปรียบจากการเติมน้ำมันไม่เต็มลิตร ตามที่ปรากฎข่าวและคลิปวีดีโอเผยแพร่ต่อสาธารณชนทั่วประเทศ ในสถานีบริการน้ำมันแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2566 

ต่อมาวันที่ 21 ธ.ค. 2566 ได้มีรายละเอียดคำชี้แจ้งเป็นหนังสือของฝ่ายบริหารสถานีบริการสวนกลาง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการยอมรับและยืนยันว่า การเติมน้ำมันแต่ละครั้งได้ไม่เต็มลิตร ปรากฏข่าวเผยแพร่สู่สาธารณชนทั่วประเทศ 
สอดรับกับคำให้สัมภาษณ์นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุไว้ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2566 หลังมีการตรวจสอบและยอมรับว่า การเติมน้ำมันแต่ละครั้งนั้น ได้น้ำมันไม่เต็มลิตร น้ำมันที่ขาดไปไม่ถือว่าผิดปกติ

ขณะที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2566 กรณีมีข่าวปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งเติมน้ำมันไม่เต็ม 5 ลิตร โดยเห็นว่า เป็นเรื่องการตรวจวัดตามกฏกระทรวงเท่านั้น ถึงอย่างไรปั้มน้ำมันก็ควรต้องจ่ายน้ำมันชดเชยให้ผู้ใช้บริการเต็มตามจำนวนลิตรที่ชำระเงินไป

เพราะการชำระเงินค่าน้ำมันเป็นการชำระเต็มตามจำนวนลิตร มิใช่ชำระแบบเผื่อเหลือเผื่อขาดซึ่้งถือเป็นการให้ความเห็นตรงกันข้ามกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการภายในกระทรวงพาณิชย์  

นายชัชนัย ระบุว่า การที่เติมน้ำมันโดยจ่ายเงินค่าน้ำมันเต็มลิตร แต่กลับได้รับน้ำมันไม่ครบลิตร ถือเป็นการปกปิดหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง 

"ที่ผ่านมามีการกระทำความผิดทางอาญาตั้งแต่อดีตจนถึงปังจุบันทำให้เกิดความเสียหายหลายพันล้านบาท เป็นการกระทำความผิดทางอาญาอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ต่างกรรมต่างวาระ ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สรุปเรื่องการกระทำความผิดทางอาญาส่งให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่สอบสวนโดยด่วน มิฉะนั้นถือว่าท่านอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามมาตรา 157" นายชัชนัย ระบุ