ผู้ใช้ "บุหรี่ไฟฟ้า" ชี้ยอดส่งออกจากจีนมาไทยกว่า 1,600 ล.ทั้งที่ห้ามนำเข้า

23 ก.พ. 2567 | 05:10 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2567 | 05:11 น.

ผู้ใช้ "บุหรี่ไฟฟ้า" ชี้ยอดส่งออกจากจีนมาไทยกว่า 1,600 ล.ทั้งที่ห้ามนำเข้า จี้ถามจับได้แล้วไปไหน แนะรัฐอย่าฝืน ระบุตลาดมืดขยายตัวอย่างมากควรนำขึ้นมาบนดินเพื่อควบคุมให้ถูกกฎหมาย

จากกรณีนายตำรวจจับบุหรี่ไฟฟ้ายึดของกลางให้ภรรยานำไปขายทำกำไรต่อ และข่าวการจัดฉากจับกุมร้านบุหรี่ไฟฟ้าที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อซุกซ่อนของกลางจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์

ต่อกรณีดังกล่าวเพจมนุษย์ควันชี้การแบนบุหรี่ไฟฟ้าเปิดช่องว่างให้เกิดการทุจริต นำของกลางไปขายต่อ และจัดฉากฮั้วกับร้านค้าผิดกฎหมาย จับกุมพอเป็นพิธีเท่านั้น เป็นสาเหตุให้ยอดจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนโดยหน่วยงานไทยมีเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกบุหรี่ไฟฟ้าจากจีนสู่ไทย ที่เปิดเผยโดยศุลกากรจีนว่ามีมูลค่าสูงถึง 1,600 ล้านบาททั้งที่มีการห้ามนำเข้า
 

เพจมนุษย์ควันได้ออกมาโพสต์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ยอดส่งออกบุหรี่ไฟฟ้าจากจีนมาไทยปีก่อนอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท หากหารแบบง่ายก็อยู่ที่เดือนละ 133 ล้านบาท แต่ยอดจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าที่กรมศุลรายงานอยู่ที่ราวเดือนละ 5 ล้านบาทซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

ผู้ใช้ "บุหรี่ไฟฟ้า" ชี้ยอดส่งออกจากจีนมาไทยกว่า 1,600 ล.ทั้งที่ห้ามนำเข้า

โดยตัวเลขที่ทางเพจอ้างอิงนั้น มาจากตัวเลขมูลค่าการส่งออกเครื่องบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามายังประเทศไทยรายงานโดยกรมศุลกากรประเทศจีน ซึ่งระบุว่ามีมูลค่ารวมกว่า 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1,600 ล้านบาท 

ขณะที่ตัวเลขการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าที่ลักลอบเข้ามายังประเทศไทยในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 31 มกราคม 2567 โดยกรมศุลกากรไทย ระบุว่ามีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวกว่า 68,000 ชิ้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 15.5 ล้านบาท หากเฉลี่ยเป็นมูลค่าต่อเดือนแล้ว ยังคงมีช่องว่างที่ห่างกันอยู่มาก ซึ่งนำมาสู่คำถามว่า บุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่ถูกจับกุมนั้นเล็ดรอดไปได้อย่างไร ผ่านช่องทางใด และถึงมือใครบ้าง

พจมนุษย์ควันยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการนำบุหรี่ไฟฟ้าของกลางมาจำหน่ายต่อ รวมถึงการจับกุมทั้งบุหรี่มวนเถื่อนและบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนก็มีการจัดฉาก ปิดร้านแล้วกลับมาเปิดใหม่ได้อีก ตลอดช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ประเทศไทยคงไว้ซึ่งกฎหมายการแบนบุหรี่ไฟฟ้านั้น มีกรณีการลักลอบ ทุจริต 

และใช้อำนาจในทางที่ผิดโดยเจ้าหน้าที่ กระทบถึงผู้บริโภคทั่วไปทั้งไทยและต่างชาติ ดังเช่นกรณีดาราสาวไต้หวันที่เป็นกระแสใหญ่เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา จึงสมควรนำมาควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมายเช่นเดียวกันกว่า 80 ประเทศทั่วโลก