จากกรณีเกิดเหตุพาวเวอร์แบงค์ของผู้โดยสารระเบิดบนเครื่องบินโดยสาร ขณะที่กำลังบินจากสนามบินดอนเมือง มุ่งหน้านครศรีธรรมราช ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบิน FD3188 ออกเดินทางจากดอนเมือง เวลา 07.20น. โดยมีผู้โดยสารเต็มลำ 186 ชีวิต ซึ่งหนึ่งในผู้โดยสาร คือ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังเดินทางไปจ.นครศรีธรรมราช เพื่อลงพื้นที่ทำงาน
ต่อกรณีดังกล่าวนางสาวพิมพ์ภัทรา ระบุว่า นั่งอยู่ในสายการบินดังกล่าว โดยอยู่แถว 2 หลังจากนั้นจู่ๆ มีเหตุการณ์ได้กลิ่นไหม้ประมาณช่วงกลางลำ ทางแอร์โฮสเตสได้เดินไปเดินมา และเดินไปที่ห้องกัปตัน ตนรู้สึกตกใจมาก เพราะไม่รู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
จากนั้นแอร์ก็ไปหยิบถังขยะมาและใส่ถุงพลาสติกและหยิบน้ำจากขวดเล็กๆจากตู้รถเข็นอาหารมาเททีละขวด ส่วนตัวเมื่อเห็นแล้วจึงเข้าไปช่วย เพราะคิดว่าชีวิตขึ้นอยู่กับน้ำตรงนี้หรือเปล่า เลยเข้าไปช่วยทันที และมีผู้โดยสารอีก 2 คนไปช่วยกัน ตอนนั้นไม่รู้แอร์จะเอาไปทำอะไรแต่ก็ช่วยไปก่อน จนแอร์ดับไฟสำเร็จ
พอลงเครื่องมาก็ยังไม่ได้ถามอะไรกับสายการบิน เพราะเจอเหตุการณ์ของเครื่องบินบ่อย เช่นล้อไม่กลาง แต่ครั้งนี้มีกลิ่นและเป็นไฟเลยกังวลกว่าปกติ จนมารู้ทีหลังว่ามีนักข่าวในพื้นที่นครศรีธรรมราชนั่งอยู่ในเครื่อง ไปโพสต์ และเป็นข่าวออกมา จึงโทรไปถามว่าอยู่บนเครื่องด้วยหรือ จึงทราบว่านักข่าวนั่งข้างหลังเห็นเหตุการณ์ นักข่าวบอกเป็นประกายไฟ
"เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าแอร์ก็แก้ปัญหาได้ดี มีสติ แต่ไม่มีประกาศอะไรออกมา คนที่ลุกก็คือคนที่เกิดเหตุ ส่วนตัวพอรู้ว่าเป็นไฟนึกถึงลูก มองว่าเป็นการจัดการของสายการบินที่สามารถทำได้ดี เพราะทุกคนไม่ตื่นตูม ไม่ช็อก ตกใจ จนอาจทำอะไรที่อันตรายได้ อย่างผู้โดยสารข้างๆก็พยายามถามแอร์ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่แอร์ไม่ตอบเพราะกำลังพยายามแก้ไขปัญหาตรงหน้า"
ทั้งนี้ ต้องการเรียกร้องให้ผู้บริโภค สายการบิน และเจ้าหน้าที่สนามบินเอง ให้ตรวจสอบพาวเวอร์แบงก์ ที่ผู้โดยสารจะนำขึ้นเครื่อง ต้องมีสัญลักษณ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เท่านั้น เนื่องจากพาวเวอร์แบงก์ เป็นสินค้าควบคุมของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปี 63 เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เพราะที่ผ่านมาเกิดเหตุพาวเวอร์แบงก์ ที่ไม่ได้มาตรฐาน ระเบิด และไฟไหม้ ในลักษณะดังกล่าวหลายครั้ง
ทางสมอ.จึงได้เข้ามาดูแลเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งจะมีการทดลองคุณภาพมาตรฐานของสินค้าอย่างเข้มข้น เช่น การทนความร้อน ความจุไฟฟ้าที่กำหนด การทนความร้อนของวัสดุอุปกรณ์ ที่ผ่านมาทางสมอ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจเข้มโรงงานผลิต รวมถึงผู้นำเข้า หากพบผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้า หรือผลิตพาวเวอร์แบงก์ ที่ไม่ขออนุญาตจะมีโทษตามกฎหมาย กรณีที่ทำหรือนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ที่ผ่านมาสมอ. ได้ตรวจควบคุมการทำ นำเข้า และจำหน่ายพาวเวอร์แบงก์ในท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งที่จำหน่ายผ่านทางออนไลน์ด้วย หากพบสินค้าไม่ได้มาตรฐานหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะดำเนินการตามกฎหมายทันที ต้องการย้ำกับประชาชน ขอให้เลือกซื้อพาวเวอร์แบงก์ที่มีเครื่องหมาย มอก. รับรองเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย และที่สำคัญต้องศึกษาคู่มือวิธีการใช้งานโดยละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อตนเองและบุคคลรอบข้าง ซึ่งตนจะกำชับให้สมอ.เดินหน้าตรวจเข้มต่อไป”
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า เหตุการณ์นี้ในฐานะผู้สบเหตุการณ์ตรงเข้าใจการทำงานของสายการบิน แอร์ แต่ก็รู้สึกห่วงใยผู้โดยสาร ประชาชน เพราะแทบทุกคนต่างพกพาวเวอร์แบงค์ขึ้นเครื่อง ดังนั้นจะสั่งการให้ นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. เข้าไปดูเรื่องความปลอดภัยที่เข้มข้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนให้มากที่สุด