สืบเนื่องจากวันที่ 4 มีนาคม 2567 มีผู้พบเห็นแสงเขียวสว่างวาบกลางท้องฟ้ายามราวสามทุ่มเศษ และพากันตั้งข้อสงสัยว่าแสงดังกล่าวคืออะไร จะใช่ดาวตก หรือ อุกกาบาต หรือจะเป็นดาวหาง หรือแม้แต่จรวด วันนี้ "สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT " โดยดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการ สดร.จึงได้รวมรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอให้เห็นถึงความแตกต่างของวัตถุทั้ง 4 ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ต้องสังเกตแบบไหน
ดาวตก
- เกิดจากเศษชิ้นส่วนของวัตถุในอวกาศ เช่น ดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย ที่ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกแล้วเกิดการลุกไหม้ ปกติมักจะใช้คำว่า “เสียดสี” กับชั้นบรรยากาศโลก แต่แท้จริงแล้วการลุกไหม้ของวัตถุนั้น เกิดจากการบีบอัดอากาศเสียจนมีอุณหภูมิสูงจนลุกเป็นไฟ แล้วเผาไหม้วัตถุไปในที่สุด ในแต่ละวันนั้นจะมีดาวตกประมาณหนึ่งล้านดวงตกลงมาในชั้นบรรยากาศของโลกเรา แต่ครึ่งหนึ่งตกมาในเวลากลางวันที่สังเกตได้ยาก และที่เหลือส่วนมากก็ตกลงในทะเล หรือพื้นที่ห่างไกลไม่มีคนสังเกตเห็น
อุกกาบาต
- แท้จริงแล้วอุกกาบาตนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกันกับดาวตก แต่มักจะใช้คำว่าอุกกาบาตแทนถึง "ก้อน" ที่สามารถหยิบจับต้องได้ และใช้คำว่า ดาวตก แทนปรากฏการณ์สว่างวาบบนฟ้า พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเห็นเป็นลูกไฟบนฟ้า จะเรียกว่า "ดาวตก" แต่ถ้าหยิบมาเป็นก้อนได้ จะเรียกว่า "อุกกาบาต" ซึ่งดาวตกส่วนมากนั้นมีขนาดเล็กเกินกว่าจะมีอะไรที่หลงเหลือเป็นอุกกาบาตได้ นอกจากนี้ อุกกาบาตยังต่างจาก "ดาวเคราะห์น้อย" ตรงที่อุกกาบาตหมายถึงวัตถุที่ตกลงมายังพื้นโลกแล้ว แต่ดาวเคราะห์น้อยนั้นจะยังอยู่ในอวกาศ ซึ่งอาจจะต้องส่งยานออกไปศึกษา หรือสังเกตการณ์จากโลก