หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือ “หอดูดาวแห่งชาติ” ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่
หอดูดาวแห่งนี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT จะเปิดบ้านหอดูดาวแห่งชาติ ให้เข้าชมเพียง 2 ครั้งต่อปีเท่านั้น ครั้งแรกเพิ่งจัดไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 และจะจัดอีกครั้งในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้
เรากำลังจะพาคุณย้อนไทม์แมชชีน ไปดูดาวผ่านเทคโนโลยีสุดล้ำกัน บนยอดดอยอินทนนท์อันหนาวเหน็บ
คุณรู้หรือไม่ว่า ดวงดาว วัตถุ หรือ สิ่งต่างๆที่เราเห็นบนท้องฟ้า ในยามค่ำคืน ล้วนเป็นอดีต เพราะกว่าแสงจะเดินทางผ่านถึงโลกของเรา ใช้เวลาหลายร้อยล้านปี
ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์วันนี้ ในความเป็นจริง ดาวบางดวงก็อาจจะดับไปแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วนั่นเอง
ท่ามกลางอากาศหนาว การได้มาส่องดาวบนยอดดอยอินทนนท์ คือ ฟินขั้นสุด
หอดูดาวแห่งชาติแห่งนี้ ไม่เพียงเป็นหอดูดาวแห่งแรกในไทย ที่มีขีดความสามารถในการศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์ ทัดเทียมกับหอดูดาวชั้นนำในต่างประเทศเท่านั้น
แต่ยังเป็นหอดูดาวที่มีความทันสมัย ไฮไลท์อยู่ที่กล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร จัดว่าใหญ่และทันสมัยที่สุดในอาเซียนอีกด้วย
ทุกครั้งของการเปิดหอดูดาวแห่งชาติที่นี่ จะมีการเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปดูดาว ผ่านกล้องโทรทรรศน์ตัวนี้ ซึ่งติดตั้งอยู่ภายในโดมที่มีขนาดใหญ่และสูงมาก เป็นกล้องโทรทรรศน์ระบบอัลตะซิมุธ (Alt-azimuth system)
ควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ ติดตามวัตถุท้องฟ้าด้วยความแม่นยำสูง เป็นกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบริชชี-เครเทียน (Ritchey-Chretien) ที่มีเลนกระจกใหญ่มาก ใครมาที่นี่ต้องไม่พลาดที่จะต่อคิวเข้ามาดูดาว ณ จุดนี้
รวมไปถึงยังมีกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร และกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีกหลายตัว ที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยหมุนกล้อง หาดาวให้เราได้ชมกันแบบแจ่มๆ
พร้อมไปกับจะพี่ๆ ประจำหอดูดาว ที่จะคอยชี้และบอกว่าตอนนี้มีดาวอะไรบ้างเหนือหัวเรา แสงดาวระยิบระยับท่ามกลางความมืด ทั้งเรายังส่องกล้องเห็นดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ กระจุกดาวลูกไก่ เนบิวลานายพราน ดาวบีเทลจุส ดาวซีรีอุส ว๊าวมากๆ
ส่วนกลุ่มดาวที่เรามองว่าสวยมากออร่ามาเต็ม คือ เนบิวลาปู เป็นหนึ่งในเนบิวลาที่รู้จักกันมากที่สุด เนื่องจากมีความสว่างและงดงามมาก อยู่บริเวณกลุ่มดาววัว (Taurus) ห่างจากโลก 6,300 ปีแสง ความสุกสว่างนี้เกิดจากการจบชีวิตลงดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง ทำให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ที่เรียกว่า “Supernova” นั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีการเปิด “ห้องควบคุมกล้องโทรทรรศน์” ให้เราได้เรียนรู้การทำงานของนักดาราศาสตร์อีกด้วย
โอโห! ห้องนี้มีจอหน้าคอมพิวเตอร์เรียงรายเลยจ๊ะ แต่ละจอเต็มไปด้วยการเกาะติดโลกของดาราศาสตร์ และยังเฝ้าควบคุมและติดตามการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร บนหอดูดาวแห่งนี้ และกล้องโทรทรรศน์ที่อยู่ในต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้เพื่อจะได้เฝ้าติดตามวัตถุท้องฟ้า อย่าง กาแลกซี่ ทางช้างเผือก หรือปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อื่นๆได้ต่อเนื่องและชัดเจน ในประเทศต่างๆในฝั่งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ซึ่งมีละติจูดที่สูงกว่าที่ตั้งของประเทศไทย
รวมถึงติดตามวัตถุท้องฟ้า ได้ตลอดทั้งวัน อย่างในช่วงกลางวันเราดูดาวไม่ได้ก็ต้องใช้หอดูดาวที่อื่นอย่างที่สหรัฐอเมริกา หรือ จีน ที่มืดแล้ว เป็นต้น
“ธนกฤต สันติคุณาภรต์” หัวหน้างานบริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ เล่าถึงการทำงานของห้องควบคุมแห่งนี้ ด้วยภาษาง่ายๆ ที่ทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงดาราศาสตร์ รู้สึกอยากไปเป็นนักดาราศาสตร์เลย
โดยเขาเล่าว่าหน้าจอที่เห็นเยอะมาก ในห้องควบคุมจะแสดงข้อมูลแตกต่างกันไป เช่น บางหน้าจอจะมีภาพถ่ายท้องฟ้าแบบเรียลไทม์หลายๆ ที่และเปิดวนไป เพื่อจะดูความชื้นอุณหภูมิ ความกดอากาศ และงานวิจัยด้านดาราศาสตร์
ภายในห้องควบคุมนี้ จะเป็นระบบโรโบติกส์ ทำงานอัตโนมัติ ที่จะเป็นข้อมูลที่โอเปอเรเตอร์ที่อยู่ที่นี่ต้องมอนิเตอร์ตลอดเวลา โดยเป็นแอพฯที่เราจะเป็นคนเขียนระบบควบคุมกล้องทั้งหมด นักวิจัยจะมาใช้งานก็ไม่ต้องตื่นกลางคืนมาควบคุมกล้อง
เพียงแต่เข้าไปคีย์ข้อมูลว่าอยากศึกษาเรื่องอะไร ในช่องคลื่นไหน อยากจะถ่ายภาพหรือเก็บข้อมูลด้วยอุปกรณ์อะไร แต่คีย์เข้าไปในระบบ เดี๋ยวกล้องก็จะเก็บข้อมูลให้เอง นักวิจัยก็ดาวน์โหลด แล้วเอามาทำวิจัยได้
ขณะเดียวกันกล้องที่มีเรายังติดอุปกรณ์เอาไว้ศึกษาสเปกโทรกราฟ ที่จะสามารถมองเห็นได้มากถึง 6 แสนกว่าเฉดสีอีกด้วย ทำให้เราสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ได้หลายอย่าง เพื่อใช้ในการวิจัย
การวิจัยที่นักดาราศาสตร์สนใจเยอะมาก จะเป็นเรื่องดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ เราอยากจะรู้ว่าจริงๆมันมีสิ่งมีชีวิตที่อยู่นอกโลกหรือเปล่า และโลกเราเป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียว หรือเปล่าที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ในนี้
เขาเลยศึกษาว่าหนึ่งในดาวเคราะห์ในระบบสุริยะนี้ อย่าง ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร พฤหัส เสาร์ มีสิ่งมีชีวิตไหม นอกจากดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ เขายังไปหาดาวฤกษ์ดวงอื่นมันควรจะมี ดาวเคราะห์โคจรรอบๆด้วย
โดยใช้วิธีส่องกล่องไปที่ดาว แล้ววัดคาบแสง ซึ่งปกติดาวฤกษ์ดวงจะต้องมีแสงสม่ำเสมอ แต่อยู่ๆถ้ามีแสงลดลงไป เราก็จะสามารถเดาได้ว่าต้องมีอะไรไปบังแสง แล้วถ้าเราศึกษาเรื่อยๆจะเห็นว่ามันร่วงหล่นลงไป
เราศึกษาหาค่าแสงได้ จะรู้ดาวเคราะห์ด้วยนั้นมีการบัง ใช้เวลารอบเท่าไหร่ต่อการโคจร 1 รอบ หรือแสงหายไปมากเท่าไหร่ ถ้าหายมากแสดงว่าดาวเคราะห์จะมีขนาดใหญ่
จากการหาคาบได้จะรู้ว่า คาบวงโคจรหมุนเร็วจะอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ เหมือนดาวพุธโคจรไม่กี่เป็นวัน ดาวศุกร์โคจร ไม่กี่ร้อยวัน โลกของเราก็ 365 วัน ยิ่งอยู่ใกล้ดาวฤกษ์แม่ ก็จะมีคาบวงโคจรที่เร็วขึ้น ความลึก ถ้าอยู่ๆแสงมันขึ้นมาเลย แล้วหายไปเลย
แสดงว่าดาวเคราะห์ดวงนั้นไม่มีชั้นบรรยากาศ แต่ถ้าแสงค่อยๆดร็อปและค่อยๆขึ้นแสดงว่าระหว่างที่ดาวเคราะห์โคจร ผ่านไปข้างหน้าดาวฤกษ์ เราก็จะเห็นแสงผ่านชั้นบรรยากาศ เราก็จะรู้ว่าดาวเคราะห์ดวงนั้นมีชั้นบรรยากาศหรือไม่เราก็จะหาได้เหมือนกัน ซึ่ง
ตอนนี้เราค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะน่าจะเกิน 4 พันดวงแล้ว มีนักวิจัยของ NARIT ค้นพบไปประมาณ 12 ดวง โดยใช้กล้องของเราและของต่างประเทศด้วย
หรือการจะค้นหาว่าดาวเคราะห์มีสิ่งมีชีวิตหรือไม่ เขาก็จะดูระยะห่างจากดาวเคราะห์ไปถึงดาวฤกษ์แม่ ถ้าเกิดดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดาวฤกษ์แม่ ในระยะที่พอดี เหมือนโลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ แสดงว่าเป็นเขตเอื้อต่อมีชีวิตหรือดำรงชีวิต หรือถ้าห่างเพียงพอน้ำจะอยู่ได้ภายใต้สถานะของแข็งของเหลว และก๊าซได้ ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่
ปัจจุบันเรายังไม่เจอสิ่งมีชีวิตนอกโลก แต่ถ้าถามนักดาราศาสตร์ 100 คนทั้ง 100 คนก็จะตอบว่ามันน่าจะมีสิ่งมีชีวิตนอกโลกอยู่ แต่เรายังหาไม่เจอเท่านั้นเอง
ส่วนเรื่องของ UFO ที่ย่อมาจาก Unidentified Flying Object ในทางดาราศาสตร์จะหมายถึงวัตถุอะไรก็ได้ที่อยู่ในอากาศท้องฟ้า แล้วเราไม่สามารถระบุได้ว่ามันคืออะไร เราจะเรียกว่า UFO ไว้ก่อน แต่ภายหลังถ้าระบุได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ก็จะไม่ใช่ UFO แล้ว
เรื่องราวทางดาราศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และชวนให้น่าค้นหาอยู่ตลอดเวลา การดูดาว จึงไม่เพียงการเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ แต่ยังจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายๆคน ที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักดาราศาสตร์ในอนาคตอีกด้วย
CR: ภาพ NARIT
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,961 วันที่ 28 - 31 มกราคม พ.ศ. 2567