นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมท ประธานที่ปรึกษา และผู้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย เปิดเผยวันนี้(15 มี.ค. 67) ภายหลังนำคณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีกว่า 10 คน เข้าพบหารือกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกทม. ที่ศาลาว่าการ กรุงเทพมหานคร เพื่อกระชับความสัมพันธ์ พร้อมหารือความร่วมมือระหว่างกันในด้านของสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดว่า
การพบปะหารือครั้งนี้ เป็นไปด้วยบรรยากาศของความร่วมมือในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์การเป็น “มหานครโซลาร์เซลล์” และ “กรุงเทพสีเขียว 2030” ของกรุงเทพมหานคร
โดย นายชัชชาติ ได้ย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทย กับ ประเทศจีน และความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และ ประเทศจีน ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
อีกทั้งประเทศจีนยังเป็นตัวอย่างที่ดี ในเรื่องของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด ซึ่ง กรุงเทพมหานคร มีกลไก และแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 การส่งเสริมพลังงานสะอาด การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) การมีจุดบริการบรรจุไฟฟ้า(EV Charging points) และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อลดคาร์บอน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาเมือง
โดยผู้ว่าฯ กทม. ได้สรุปเป้าหมายของกรุงเทพมหานครในด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นโครงการที่สามารถประสานความร่วมมือระหว่างกันได้ในอนาคต ได้แก่
1. การโปรโมตการใช้รถ EV ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีโครงการเปลี่ยนรถขยะจากระบบน้ำมัน มาเป็นระบบ EV จำนวน 2,000 คัน
2. การเพิ่มจุดชาร์จรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้มีการเปิดให้ยื่นข้อเสนอในการติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้า 40 จุด
3. การพิจารณาทำโรงเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการหาผู้ลงทุนและผู้ดำเนินการ
4. การทำให้กรุงเทพมหานคร เป็นมหานครโซลาร์เซลล์ เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ มีแดดทั้งปี โดยมีโครงการจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ในทุกหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร
5. การพิจารณาโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลม เนื่องจากกรุงเทพฯ มีพื้นที่ชายทะเลอยู่ประมาณ 5 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้ประธานที่ปรึกษาฯ ต่อศักดิ์ โชติมงคล เป็นผู้ประสานความร่วมมือหลัก
นายอลงกรณ์ อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่หนึ่ง และ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ กล่าวขอบคุณคณะผู้บริหาร กทม. และแสดงความชื่นชมผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และคณะ ที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด การขับเคลื่อน “กรุงเทพสีเขียว2030”(Green Bangkok 2030” ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon neutrality) และ ซีโร่คาร์บอน(Zero carbon)
โดยเป็นภารกิจของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อน ในปีค.ศ. 2050 และ 2065 ตามลำดับ ซึ่งความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับประเทศจีนในครั้งนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของการปูทางสู่วาระครบรอบ 50 ปี ในความสัมพันธ์ทางการฑูตของ 2 ประเทศ ในปี 2568 นับแต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทย ได้สถาปนาความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 2518 ซึ่ง ม.ล.สุภาพ ปราโมช ผู้ก่อตั้งสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเซีย ได้ร่วมคณะไปด้วยในครั้งนั้น
และสานต่อภารกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเดินทางไปจีนถึง 148 ครั้งเพื่อสานสัมพันธ์ 2 ประเทศจนถึงทุกวันนี้ โดยคณะผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีน ด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยี ได้ตอบตกลงและพร้อมสนับสนุนข้อริเริ่มว่าด้วยความร่วมมือของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อย่างกระตือรือร้น และจะเร่งดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
สำหรับการประชุมหารือเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 มี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการ ผู้ว่าฯ กทม. นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางสาวพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ
และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ คณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาด ซึ่งนำโดยนายอลงกรณ์ หม่อมหลวงสุภาพ ปราโมช ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย นางสาวประจงจิต พลายเวช รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมฯ นางสาวอภิญญา ปราโมช นายกสมาคมฯ นายธัชธรรม พลบุตร และ นายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด กรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย