วันที่ 15 มีนาคม 2567 นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายการเมือง กล่าวถึงกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องการรับบริการที่คลินิกอบอุ่น ส่งตัวผู้ป่วยนอกไปรักษาที่โรงพยาบาลแต่ถูกโรงพยาบาลปฏิเสธนั้น ได้ตรวจสอบกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) พบว่า สาเหตุเกิดจากช่วงรอยต่อของการปรับรูปแบบบริการและการจ่ายเงินเป็นแบบ "จ่ายล่วงหน้าให้เงินก้อนแบบเหมารายหัว" ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา จึงเกิดความสับสนระหว่างคลินิกกับโรงพยาบาล
ล่าสุด สปสช.ได้แก้ไขปัญหาในเบื้องต้นภายใต้หลักการผู้ป่วยโรคซับซ้อนที่เกินศักยภาพคลินิกต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ดูแลโดยคลินิกได้ต้องได้รับการดูแลที่คลินิก พร้อมออก 6 เกณฑ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยบัตรทองในเขต กทม.ดังนี้
1.ผู้ป่วยมีบัตรนัดโรงพยาบาลแต่ไม่มีใบส่งตัวของคลินิกต้นสังกัด
สปสช.ขอให้โรงพยาบาลให้บริการประชาชน (โรงพยาบาลเบิกค่ารักษาจากกองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉิน และกองทุนอื่น )
2.ผู้ป่วยมีบัตรนัดของโรงพยาบาลแต่ได้ใบส่งตัวจากหน่วยบริการอื่น
ให้โรงพยาบาลรับรักษา (โรงพยาบาลเบิกค่ารักษาจากกองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉิน และกองทุนอื่น ๆ
3.ผู้ป่วยไม่มีบัตรนัด ถ้าเจ็บป่วยฉุกเฉิน
โรงพยาบาลต้องให้บริการโดยเร็ว ไม่ต้องขอใบส่งตัว (ให้โรงพยาบาลเบิกค่ารักษาจากกองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉิน)
4.ผู้ป่วยที่ไม่ใช่อุบัติเหตุฉุกเฉินและโรงพยาบาลประเมินว่าไม่ควรรอ
ให้โรงพยาบาลบริการไปก่อน (โรงพยาบาลเบิกค่ารักษาจากกองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉินและอื่น ๆ )
5.ผู้ป่วยมีใบส่งตัวจากคลินิก
สามารถส่งต่อหน่วยบริการอื่นได้ (ให้เบิกค่ารักษาพยาบาลตามระบบ FS จากคลินิกอบอุ่นหรือกองทุนที่เกี่ยวข้อง)
6.กรณีผู้ป่วยเกินศักยภาพของโรงพยาบาลรับส่งต่อแห่งที่ 1
ให้ส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ที่มีศักยภาพได้โดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวที่คลินิกต้นสังกัด (ให้แจ้งที่คลินิกต้นสังกัดและเบิกค่ารักษาจากกองทุน OP Refer หลังจากนั้น)
กรณีหากโรงพยาบาลแห่งที่ 2 เห็นว่า มีความจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่อง ให้ส่งประวัติการรักษากลับไปยังคลินิกต้นสังกัด พิจารณาส่งตัวมายังคลินิกที่ 2 โดยขอให้ออกหนังสือส่งตัวอย่างน้อย 90 วัน
ทั้งนี้ สปสช.กทม ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและขอความร่วมมือศูนย์บริการให้รักษาประชาชนช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อไม่ให้กระทบประชาชน หากมีข้อสงสัย ติดต่อที่หมายเลข 1330โดย สปสช.ได้เพิ่มเจ้าหน้าที่สายด่วน 100 คนเพื่อความรวดเร็วด้วย
นางสาวตรีชฎา ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ผลักภาระค่าใช้จ่ายให้หน่วยบริการแต่อย่างใดเป็นการใช้ระบบเดิมคลีนิกและร้านยาไม่ต้องเก็บเงินกับประชาชน แต่ให้เรียกเก็บไปที่ สปสช. เมื่อส่งข้อมูลครบถ้วน ทาง สปสช.จะจ่ายคืนให้ร้านยาและคลีนิกภายใน 3 วัน
ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณสำหรับดูแลผู้ป่วยนอกถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ซึ่งเป็นไปตามระบบมาตั้งแต่ปี 2564 โดยปี 2564 และ 2565 ที่ผ่านมาไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณและยังมีงบประมาณคงเหลือจ่ายเพิ่มให้กับคลินิกแต่ปี 2566 มีการส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลมากขึ้น เพียงพอและปัจจุบันยังไม่มีคลินิกใดยื่นเรื่องขอบอกเลิกสัญญากับทาง สปสช. ในทางตรงกันข้าม มีคลินิกและโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งติดต่อเข้ามาเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ สปสช.อยู่ในระหว่างเจรจาเพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่ที่หนาแน่น
ส่วนที่มีการกล่าวว่า รัฐไม่แนะนำดีลเลอร์ยาราคาถูกให้ร้านยาได้ราคากลางนั้น เป็นคำกล่าวหาที่ไม่ถูกต้อง สปสช. ดำเนินงานร่วมกับสภาเภสัชกรรม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นองค์กรวิชาชีพตามกฎหมายได้ช่วยเจรจากับบริษัทยา และทำข้อเสนอเพื่อให้ได้ยาในราคาที่ยุติธรรม ไม่เกินราคากลางและระมัดระวังไม่ให้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับดีลเลอร์ยารายใดรายหนึ่ง
รวมทั้งตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรมและความสมัครใจของร้านยาและคลินิกด้วย ขณะนี้มีร้านยาเข้าร่วม 2,000 แห่ง คลินิกอบอุ่นในกทม. 300 แห่ง คลินิกที่เข้าร่วม 30 บาทรักษาทุกที่ 12 จังหวัด รวม 50 แห่ง