วันที่ 30 มีนาคม 2567 จากกรณีเกิดเหตุเครนถล่มทับลูกจ้างที่จังหวัดระยอง เมื่อเย็นวานนี้ (วันที่ 29 มี.ค.67) จนทำให้คนงานเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ล่าสุดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินการให้ความช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยองและสาขาปลวกแดง รายงานว่า สำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยองและสาขาปลวกแดง พร้อมนายอำเภอปลวกแดง จัดหางานจังหวัดระยอง และตัวแทนโรงงานฯ ร่วมชี้แจงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ญาติผู้เสียชีวิตได้รับทราบ
จากการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนของลูกจ้างทั้งหมดจำนวน 7 ราย พบว่าขึ้นทะเบียนป็นผู้ประกันตนเรียบร้อยแล้ว โดยลูกจ้างที่เสียชีวิตจะมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทน เป็นค่าทำศพ จ่ายแก่ผู้จัดการศพ รายละ 50,000 บาท ค่าทดแทนกรณีตาย รายละ 788,424 บาท ส่วนลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บจะมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทน เป็นค่ารักษาพยาบาล ตามที่จ่ายจริงตามความจำเป็นตามกฎกระทรวง ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ 70 % ของค่าจ้าง จ่ายให้ไม่เกินระยะเวลา 10 ปี ค่าทดแทนกรณีหยุดงาน 70 % ของค่าจ้าง กรณีทุพพลภาพได้รับค่าทดแทน 70% ของค่าจ้าง จ่ายให้เป็นระยะเวลาตลอดชีพ
ทั้งนี้ ญาติของลูกจ้างที่เสียชีวิตสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยองและสาขาปลวกแดง หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 1 สำนักงานประกันสังคม
ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีความห่วงใยต่อแรงงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ซึ่งจากกรณีดังกล่าวได้รับรายงานจากนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยองลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลสถานะของผู้ประสบอันตรายของลูกจ้างที่บาดเจ็บและเสียชีวิต พร้อมเร่งให้การช่วยเหลือสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมายโดยด่วน
ทั้งนี้จากรายงานของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง พบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (วันที่ 29 มี.ค.67) เวลา 16.58 น. ได้เกิดเหตุปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane) ถล่มทับลูกจ้างได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต สถานที่เกิดเหตุภายในโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตแผ่นเหล็ก เหล็กรูปพรรณ และลวดเหล็ก ของบริษัท ชิน เคอ หยวน จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลตาสิทธิ์ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง โดยมีการก่อสร้างอาคารโรงงาน จำนวน 6 หลัง ในเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ระยะเวลาเริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี 2563 มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2569
สำหรับอุบัติเหตุดังกล่าว ขณะที่ช่างกำลังรื้อถอนขาปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane) เพื่อลดระดับความสูง เป็นเหตุให้ปั้นจั่นหอสูงถล่มลงมาทับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานอยู่ด้านล่าง ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นลูกจ้างเมียนมา 6 ราย จีน 1 ราย และมีลูกจ้างเมียนมาได้รับบาดเจ็บ 1 ราย
จากรายงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง ยังพบว่า ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและบทกำหนดลงโทษ ได้แก่ พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2564 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 บทกำหนดโทษ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ มาตรา 4 และมาตรา 8 จำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของแรงงานชาวเมียนมาที่เสียชีวิตและขอส่งกำลังใจให้ผู้บาดเจ็บหายจากอาการบาดเจ็บโดยเร็ว ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือเยียวยาได้มีการกำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานโดยเฉพาะสำนักงานประกันสังคมดูแลในเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่พึงได้รับตามกฎหมาย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาให้ญาติทราบ"
นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้มั่นใจได้ว่า กระทรวงแรงงานจะให้การคุ้มครอง ดูแล พี่น้องแรงงานทุกสัญชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยที่เสียชีวิตหรือประสบอันตรายในการไปทำงาน หากเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องเมื่อบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็จะได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียมตามกฎหมายเหมือนแรงงานไทยทุกประการ