DSI ส่งสำนวนคดีหมูเถื่อนให้ ป.ป.ช. หลังพบ จนท.รัฐเกี่ยวข้อง

20 เม.ย. 2567 | 07:37 น.

DSI ส่งสำนวนคดีลักลอบนำเข้าหมูให้ ป.ป.ช. เนื่องจากพบมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด กำชับและเร่งรัดการดำเนินคดีเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าซากสุกรทุกคดี

พันตำรวจตรียุทธนา  แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณามีความเห็นส่งสำนวนคดีพิเศษที่ 105/2566 กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ตามมติที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ

เนื่องจากปรากฏพยานหลักฐานน่าเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการลักลอบนำเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด จำนวน 2 หน่วยงาน ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

ซึ่งก่อนหน้านี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวนคดีพิเศษเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าสินค้าซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบแล้วให้กับสำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 3 คดี ได้แก่ คดีพิเศษที่ 59/2566 คดีพิเศษที่ 101/2566 และคดีพิเศษที่ 104/2566  

พันตำรวจตรี ยุทธนา  แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

โดยคดีพิเศษที่ 105/2566 ดังกล่าวคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินคดีกับ บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด กับพวก รวม 4 ราย ในข้อหาร่วมกันนำเข้าของที่กำลังผ่านพิธีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

ตามพระราชบัญญัติ โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และประมวลกฎหมายอาญา เหตุเกิดที่ท่าเรือแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ปี 2565

 

พันตำรวจตรี ยุทธนาฯ กำชับและเร่งรัดการดำเนินคดีเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าซากสุกรทุกคดี  เนื่องจากเป็นคดีนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลรวมทั้งกระทรวงยุติธรรม โดยให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ  ที่ 101-104, คดีพิเศษที่ 106-109/2566 เร่งรัดการสอบสวนและสรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นทางคดีเสนอต่อผู้บังคับบัญชาให้เสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน 2567 นี้

ส่วนคดีพิเศษที่ 126/2566 กรณีการนำเข้า จำนวน 2,388 ตู้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการขอตรวจสอบข้อมูลจากต่างประเทศผ่านกระบวนการ ความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ (MLAT) จาก30 ประเทศต้นทางแล้ว