นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 29 เมษายน 267 จะเริ่มทำการขนกากแคดเมียมจากโรงงานเจแอนด์บี เมททอล สมุทรสาคร และโรงงานล้อโลหะไทย กรุงเทพ ไปยังบ่อฝังกลับที่จังหวัดตาก
ทั้งนี้ แผนการขนย้ายกากแคดเมียมดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอของ บมจ.เบาด์แอนด์บียอนด์ โดยที่บริษัทเจแอนด์บี สมุทรสาคร จะเริ่มขนเที่ยวแรกด้วยรถเทรลเลอร์ท้ายเรียบ จำนวน 4 คัน สามารถบรรทุกได้ทั้งหมด 80 ถุง น้ำหนักรวม 120 ตัน
และที่บริษัทล้อโลหะไทย กรุงเทพ จะใช้รถ 10 ล้อพ่วงล้อมคอก จำนวน 6 คัน เพื่อขนย้ายกากจำนวน 100 ถุง น้ำหนักรวม 150 ตัน โดยรถทุกคันจะมีการตรวจสอบความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลฟุ้งกระจายของกากแคดเมียมก่อนออกเดินทาง
"ขบวนเที่ยวแรกจากสมุทรสาคร และกรุงเทพ จะออกจากจุดนัดหมายพร้อมกันในเวลา 19.00 น. นำโดยตำรวจทางหลวง และคาดว่าจะถึงจุดหมายปลายทางจังหวัดตาก ช่วงเช้ามืดของวันที่ 30 เมษายน"
หลังจากนั้นจะเริ่มทยอยขนที่เหลืออีกเกือบ 12,800 ตัน จากสมุทรสาคร และชลบุรีทุกวัน โดยใช้รถขนส่งที่เตรียมไว้จำนวน 30 คัน จนถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2567
โดยกากแคดเมียมทั้งหมดจะถูกนำไปพักไว้ที่โรงพักคอยของ เบาด์แอนด์บียอนด์ จังหวัดตาก เพื่อรอการซ่อมแซมบ่อฝังกลบ หมายเลข 5 ให้เสร็จเรียบร้อย แล้วจึงนำกากทั้งหมดมาฝังกลบ และทำการปิดบ่อภายในวันที่ 30 กันยายน 2567
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า คณะกรรมการอำนวยการขนย้ายกากแคดเมียมฯ ได้ทำการซักซ้อมความเข้าใจของทุกฝ่ายตลอดช่วงสัปดาห์นี้ ทั้งในส่วนของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และชลบุรี บมจ. เบาด์แอนด์บียอนด์ บจก.เจแอนด์บี เมททอล และบริษัทขนส่ง
สำหรับความพร้อมของโรงพักคอยของเบาด์แอนด์บียอนด์ที่จังหวัดตาก ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 2,200 ตารางเมตร สามารถรองรับกากแคดเมียมได้กว่า 14,000 ตันนั้น ปัจจุบันได้ทำการปรับพื้นด้วยดินลูกรังสูง 30 เซนติเมตร และปูทับด้วยแผ่นดินเหนียวสังเคราะห์ (Geosynthetic Clay Liner) กันซึมเปื้อน
รวมถึงเตรียมร่องระบายน้ำ ปั๊มน้ำ บ่อรองรับน้ำฝน และวัสดุปิดคลุม เรียบร้อยแล้ว ด้านรถขนส่งกากแคดเมียมจำนวน 30 คัน ได้เตรียมการขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ด้านระบบติดตามตรวจสอบการขนย้ายและการสุ่มตัวอย่างตรวจสอบ (Manifest) ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางดำเนินการเสร็จเรียบร้อยเช่นกัน
“ได้มีการสั่งการให้ทีมงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เตรียมขั้นตอน (Procedure) เส้นทาง (Routing) และรายชื่อผู้รับผิดชอบในการขนย้ายและตรวจสอบทั้งหมด เพื่อใช้ในการกำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นมาตรฐาน รวมถึงต้องมีการเตรียมแผนสำรองฉุกเฉิน เพื่อให้กระบวนการขนย้ายไม่เกิดการสะดุด มีความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน”