1 พฤษภาคม 2567 วันแรงงานแห่งชาติ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ส่งสารถึงผู้ใช้แรงงานเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ได้เวียนมาบรรจบครบรอบ อีกวาระหนึ่ง ซึ่งเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา นับเป็นโอกาสดีที่กระทรวงแรงงานและผู้ใช้แรงงานทุกท่านร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขและคุณภาพชีวิตที่ดีของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า
รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงาน จึงกำหนดนโยบายการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานและครอบครัว ให้มีความมั่นคงและสามารถดำรงชีพได้อย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรี ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มุ่งมั่นดำเนินการในทุกมิติอย่างสมดุล ทั้งในด้านการคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยในการทำงาน
การเสริมสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การส่งเสริมการมีงานทำ การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว การสร้างหลักประกันทางสังคมแก่แรงงานในระบบ แรงงานอิสระและกลุ่มเปราะบาง การพัฒนาทักษะผีมือแรงงาน รวมถึงการยกระดับประกันสังคม เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด มีรายได้ที่ยั่งยืนสามารถดำรงชีพของตนเองและครอบครัวได้อย่างมีความสุขมีความมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะเป็นรากฐานที่มั่นคงในการสร้างผลิตภาพและเพิ่มกำลังทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป
โดยกระทรวงแรงงานมุ่งมั่น ที่จะดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน และเยียวยาความสูญเสียของผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี เพื่อรักษาไว้ซึ่งการจ้างงานให้ลูกจ้างมีงานทำ มีรายได้ รวมทั้งกำกับและบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ผู้ใช้แรงงาน ในทุกภาคส่วนได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง
ในนามของกระทรวงแรงานขอส่งความปรารถนาดีมายังพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกสาขาอาชีพทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งครอบครัวของทุกท่าน ให้มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีพลังกาย พลังใจและสติปัญญาที่เข้มแข็ง เป็นพลังสำคัญเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เจริญเติบโต รองรับการเปลี่ยนแปลงในทุกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต