จากกรณีที่มีข้อสงสัยว่า กทม.ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาทเพื่อการออกแบบและติดสติกเกอร์ใหม่บนคานรางรถไฟฟ้า หรือ ป้ายใหม่ "กรุงเทพ Bangkok" ล่าสุด นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งข้อเท็จจริง คือ กทม.ใช้งบประมาณจ้างเหมาเอกชนดำเนินการกำหนดอัตลักษณ์และภาพลักษณ์หลักของกรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการมาแล้วเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ในวงเงิน 2,952,600 บาท
ทั้งนี้ กทม.ได้หาตัวผู้รับจ้างด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) โดยใช้เกณฑ์คุณภาพ (70%) ประกอบเกณฑ์ราคา (30%) ดูบริษัทที่มีจุดเด่นและประสบการณ์ด้านการออกแบบ เป็นที่ยอมรับ ซึ่งระหว่างดำเนินการได้รับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านการออกแบบและภาพลักษณ์องค์กรตลอดทั้งกระบวนการ เพื่อให้กำหนดการใช้อัตลักษณ์ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration) สำหรับจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้มีความชัดเจน มีเอกลักษณ์เหมาะสม มีมาตรฐาน และมีความเป็นเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร สร้างการรับรู้และจดจำอัตลักษณ์ของหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร
นายเอกวรัญญู กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ที่มาของฟอนต์ที่ใช้ในสติกเกอร์ข้อความใหม่ที่ปิดบนแนวคานของรางรถไฟฟ้า กลางแยกปทุมวัน “กรุงเทพฯ – Bangkok” ว่าเป็นฟอนต์ใหม่ที่ กทม.จัดทำขึ้นภายใต้ CI (Corporate Identity) ของกรุงเทพมหานคร ที่ชื่อว่าฟอนต์ “เสาชิงช้า” มีต้นแบบมาจากตัวอักษรไทยนริศที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครซึ่งมีมาดั้งเดิม คือภาพสัญลักษณ์พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่อาศัยภาพวาดของกรมพระยานริศรานิวัดติวงศ์เป็นต้นแบบ
กทม.ได้มีการออกแบบและเริ่มนำฟอนต์เสาชิงช้ามาใช้ในการสื่อสารผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยทุกหน่วยงานในสังกัด กทม. ทั้ง 23 สำนัก และ 50 สำนักงานเขต ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่เป็นอัตลักษณ์ รวมถึงการใช้สีหลักคือสีเขียวมรกตที่นำมาใช้บ่อยที่สุด และสีรองอีกหลากหลายสีที่ใช้ในการออกแบบตกแต่ง การวางโลโก้ กราฟิก การออกแบบภาพ ฯลฯ ซึ่งได้กำหนดไว้ในคู่มือการใช้อัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร และนำไปปรับให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชิ้นงาน
"ประชาชนจะได้เห็นตัวอักษรเสาชิงช้าบ่อยขึ้นตามสื่อต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็น ป้าย สื่อวิดีทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ รวมทั้งของที่ระลึกต่าง ๆ ด้วย โดยผู้สนใจจะนำฟอนต์เสาชิงช้าไปใช้ในการออกแบบข้อความต่าง ๆ สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ (คลิกที่นี่) เมื่อเข้าไปที่ลิงค์แล้วให้เลือกที่ “ดาวน์โหลด และเลือกที่ “ฟอนต์ Sao Chingcha”