ศธ. ดึง ธนาคารออมสินนำร่องแก้หนี้ครู ลดดอกเบี้ย สนับสนุนสินเชื่อ 2 พันล้าน

31 พ.ค. 2567 | 09:24 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2567 | 09:32 น.

ศธ. ดึง ธนาคารออมสินนำร่องแก้หนี้ครู เปิด“โครงการสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ไขหนี้บุคลากรภาครัฐ” ลดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.88 ต่อปี สนับสนุนสินเชื่อ 2 พันล้านบาท

วันที่ 31 พฤษภาคม 2567  พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีพิธีลงนามในสัญญาสนับสนุนสินเชื่อ “โครงการสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ไขหนี้บุคลากรภาครัฐ” ระหว่างธนาคารออมสิน กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี จำกัด ซึ่งเป็นการให้สินเชื่อกับครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 2,000 ล้านบาท และลดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2.88 ต่อปี

 โดยเป็นการนำร่องที่จังหวัดกาญจนบุรีก่อน และจะขยายผลไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศ ซึ่งต้องขอบคุณธนาคารออมสินที่ใส่ใจครูร่วมกัน เพราะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอาจมีหนี้สินหลายส่วนเป็นภาระต่อเนื่องมาระยะเวลานาน หากได้รับความร่วมมือที่ดีจากสถาบันทางการเงิน ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ตรงจุด แบ่งเบาภาระครู เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว และหากครูมีจิตใจที่เข้มแข็งที่จะแก้ไขหนี้สินของตัวเอง เชื่อว่าจะจัดการปัญหาหนี้สินได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน

ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. กล่าวว่า จากนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” การจะมีความสุขได้คือต้องลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ด้วยปัจจุบันนี้ครูมีภาระเยอะในหลายด้าน จึงต้องช่วยครูลดการปฎิบัติหน้าที่ที่นอกเหนือจากการสอนลดภาระในการดำรงชีวิตให้เยอะที่สุด ครูก็จะมีการทำงานและชีวิตที่ดีขึ้น มีหนี้สินน้อยลง ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายหลายอย่างที่เป็นรูปธรรมในการลดภาระครู เพื่อที่ครูจะได้มีเวลาส่วนตัวหากิจกรรมทำเพื่อเพิ่มรายได้มากขึ้น ปัญหาหนี้สินครูจึงเป็นเรื่องของทุกฝ่าย โดยอาศัยความช่วยเหลือจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สถาบันการเงิน หน่วยงานต้นสังกัดมาดูแลอย่างใกล้ชิด ปัญหาต่าง ๆ ก็จะดีขึ้นได้ มีหนี้แล้วต้องมีการดำเนินชีวิตได้อย่างไม่ยากลำบาก ไม่ถึงทางตัน มีเงินเหลือใช้ในส่วนอื่นได้ การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูจึงเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันทำให้สำเร็จ

ศธ. ดึง ธนาคารออมสินนำร่องแก้หนี้ครู ลดดอกเบี้ย สนับสนุนสินเชื่อ 2 พันล้านบาท


 

รมช.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูชุดใหญ่ ขอเรียนว่าจะมีการทำ MOU กับสถาบันการเงิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลเรื่องการขอขยายกรอบเวลาชำระหนี้ และชะลอการฟ้องล้มละลาย ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ดำเนินการของบประมาณมาช่วยในการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สำหรับวันนี้เป็นจะเป็นทิศทางและประกายความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ขอขอบคุณความตั้งใจของทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือ ทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงิน ถือเป็นมิติที่ยิ่งใหญ่และจริงจังในการร่วมมือกันจัดการปัญหา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพูดคุยแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน จะช่วยแก้ไขปัญหาและลดภาระให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่งผลให้ประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต

 

ด้านนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วย รมต.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ยังมีความกังวลว่าเราจะแก้หนี้อย่างแท้จริงได้หรือไม่ จะยั่งยืนเพียงใด จึงต้องขอยืนยันว่าสามารถสงสัยได้ แต่ไม่ทำไม่ได้ เราอาจจะบอกว่าเงินเดือนสุดท้ายต้องเหลือ 30% แต่ปัญหาที่เราเจอคือแม้ว่าเหลือ 30% ก็ยังไม่หมดหนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป หากคิดแนวทางว่าเรานำหนี้ทั้งหมดมารวมกันได้หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาเงื่อนไขของหนี้แต่ละก้อนซึ่งแตกต่างกัน เช่น คนเป็นหนี้ผ่อนรถยนต์ ดอกเบี้ยถูกคิดรวมไปแล้ว หากนำมารวมหนี้แล้วก็เท่ากับเขาเสียดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรืออีกหนึ่งตัวอย่างคืออำนาจการหักเงินเดือนของ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ซึ่งหักได้เฉพาะที่เป็นลักษณะของสวัสดิการ และลูกหนี้ต้องยินยอมด้วยจึงจะหักได้ เป็นต้น

ดังนั้นเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ อันดับแรกต้องเริ่มจากการเจรจา สิ่งที่ ผอ.เขตพื้นที่ฯ จำเป็นต้องทำ คือ ต้องให้บุคลากรมาทำความเข้าใจกับกลไกการแก้หนี้ครู เพื่อที่จะสามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกหนี้ได้ โดยกลไกต่าง ๆ ทั้งการขยายอายุ การขยายระยะเวลาผ่อนชำระ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่วิธีทำได้แล้วจะยั่งยืนที่สุด คือต้องไปเป็นที่ปรึกษาช่วยลูกหนี้เป็นกรณีไป

“หากถามว่ายากไหม ตอบว่าก็ยาก แต่ถามว่าไม่ทำได้ไหม ตอบเลยว่าไม่ได้ เพราะถ้าไม่เริ่มเดิน ปัญหานี้จะไม่มีทางจบเลย ขอให้พิจารณาดูว่าปัญหาหลายอย่างในกระทรวงศึกษาธิการ เราทำแบบทำทันที แล้วมีปัญหาอะไรก็ไปแก้ไขเฉพาะหน้า ทำไปศึกษาไปโดยไม่ต้องรอพร้อม เพราะถ้ารอพร้อมก่อนเมื่อไหร่ ปัญหาเหล่านี้จะไม่ได้รับการแก้ไขเลย” นายสิริพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้หากสหกรณ์ออมทรัพย์มองว่ากระบวนการแก้ไขหนี้ครูฯ เป็นศัตรู อย่างนั้นไม่ถูกต้องแล้ว อันที่จริงเราเป็นพันธมิตรกัน เป็นภาคีเครือข่ายกัน เพราะเราเอื้อต่อกัน อย่าไปคิดว่าถ้าเข้าโครงการแก้ไขหนี้ครูฯ ดอกเบี้ยที่เคยได้เยอะจะถูกต่อรอง จะได้น้อยลง คิดแบบนี้ไม่ได้ อย่างธนาคารพาณิชย์เอง เมื่อลูกค้าจะเป็น NPL ยังต้องเรียกมาปรับโครงสร้างหนี้ ให้โอกาสลูกหนี้ได้ฟื้นตัว จึงหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ทุกสหกรณ์ทั่วประเทศจะเขียนความประสงค์ยังสถาบันการเงินให้ช่วยสนับสนุนเงินกู้ต้นทุนต่ำ เพื่อจะมาปล่อยให้ลูกหนี้ได้ไปฟื้นตัวด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำลง จะได้มากจะน้อยก็ตาม แต่ขอให้เริ่มต้นให้ได้

ส่วนเป้าหมายที่สองนั้น ได้ทราบว่าแต่ละเขตพื้นที่ฯ มีเป้าหมายว่าในแต่ละสัปดาห์ต้องแก้หนี้ให้ได้เขตพื้นที่ฯ ละ 1 ราย ซึ่งรู้สึกว่ายังไม่ท้าทายเท่าที่ควร ต้องตั้งเป้าให้มันท้าทายขึ้นกว่านี้ แต่อาจจะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป และขอย้ำให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ เริ่มแนวทางนี้แบบจริงจังพร้อมรายงานให้ทราบด้วยว่าแก้ไขสำเร็จไปแล้วกี่รายต่อสัปดาห์ เพราะการแก้ไขปัญหาหนี้ครูฯ เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ไม่มีใครสามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว พวกเราทุกคนจึงต้องลงมือทำกันทันที และขอให้กำลังใจทุกฝ่ายในการแก้ไขหนี้ครูฯ เพราะครูคือเพื่อนร่วมงานของเรา ครูคือผู้ที่ทรงคุณค่าสำหรับประเทศนี้ และครูก็เป็นคนสำคัญที่จะสร้างอนาคตของชาติ ขอให้พวกเราทุกคนจับมือไว้แล้วไปด้วย.