สถิติอึ้ง ปี 66 “คนไทย” เจอหลอกลวงทางโทรศัพท์ SMS สูงสุดในเอเชีย

01 มิ.ย. 2567 | 23:06 น.

เปิดสถิติสุดอึ้ง สศช. ระบุข้อมูล Whocalls ปี 2566 พบ“คนไทย” ได้รับสายโทรเข้า และข้อความ (SMS) หลอกลวงมากถึง 78.8 ล้านครั้ง สูงที่สุดในเอเชีย แนะเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ ถูกหลอกลวง

ภัยสังคมเกี่ยวกับ “การหลอกลวงทางโทรศัพท์” รวมไปถึง "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสแรกปี 2567 โดยระบุถึงประเด็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องหนึ่งนั้นคือ ภัยมิจฉาชีพที่มักกระทำการหลอกลวงทางโทรศัพท์ ซึ่งพบสถิติการหลอกลวงเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้จากรายงานของ Whocalls ในปี 2566 แม้ในภาพรวมของภูมิภาคเอเชีย พบการหลอกลวงทางโทรศัพท์จำนวน 347.3 ล้านครั้ง ลดลง 14% จากปี 2565 แต่กลับพบว่า “คนไทย” ได้รับสายโทรเข้าและข้อความ (SMS) หลอกลวงมากที่สุดในเอเชียถึง 78.8 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 18% จาก 66.7 ล้านครั้ง ในปี 2565 แยกเป็น 

  • สายโทรเข้า 20.8 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 22% จาก 17 ล้านครั้ง 
  • ข้อความหลอกลวง (SMS) 58.3 ล้านข้อความ เพิ่มขึ้น 17% จาก 49.7 ล้านข้อความ 

ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ การหลอกให้กู้ยืม และการแอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง และหน่วยงานรัฐ ซึ่งมักพบใจความประโยค เช่น

  • พัสดุตกหล่น/เสียหาย
  • ยืนยันสิทธิการกู้เงิน 
  • เว็บใหม่ฟรี 500 บาท 
  • การค้างชำระค่าไฟ 
  • การได้รับเงินภาษีคืน 

สำหรับการหลอกลวงผ่านทางข้อความ (SMS) พบว่า เฉลี่ยคนไทย 1 คน จะได้รับข้อความหลอกลวงจำนวน 20.3 ข้อความ มากที่สุดในเอเชีย รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ 19.3 ข้อความ และฮ่องกง 16.2 ข้อความ ซึ่งมิจฉาชีพมักใช้ข้อความ (SMS) ในการติดต่อครั้งแรก และหลอกให้เหยื่อกดลิงก์เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว 

ดังนั้น จึงต้องเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวง เนื่องจากมิจฉาชีพอาจมีเทคนิคกลยุทธ์รูปแบบใหม่ ๆ ที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันพบการรายงานสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์ พบว่าในเดือนเมษายน 2567 มีจำวนเฉลี่ย 992 คดีต่อวัน สูงกว่า การแจ้งความ ในเดือน มีนาคม 2567 ที่มีการแจ้งความเฉลี่ย 855 คดีต่อวัน

ด้านมูลค่าความเสียหายของคดีอาชญากรรมออนไลน์รวมทุกประเภท พบว่าเมษายน 2567 มีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ย 110 ล้านบาทต่อวัน มีมูลค่าความเสียหายลดลง จากเดือน มีนาคม 2567 ที่มีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ย 149 ล้านบาทต่อวัน

ส่วนการแก้ไขปัญหาและกวาดล้างซิมม้า ผลการดำเนินงานที่สำคัญในเดือนเมษายน 2567 มีการระงับซิมม้า-ซิมต้องสงสัยแล้ว 800,000 หมายเลข ระงับหมายเลขโทรออกเกิน 100 ครั้ง/วัน จำนวน 36,641 หมายเลข กวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัยโดยสำนักงาน กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 100 ซิม 

โดยครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 2.58 ล้านหมายเลข และยังไม่มายืนยันตัวตนอีกจำนวน 2.5 ล้านหมายเลข ซึ่งที่ไม่ได้มายืนยันตัวตน ถูกระงับหมายเลขแล้ว 1.46 ล้านหมายเลข ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการระงับ 1.04 ล้านหมายเลข