วันที่ 30 มิถุนายน 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ร่วมงาน “LOVE PRIDE PARADE 2024” ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมร่วมขบวนพาเหรดฉลองส่งท้ายเดือนแห่งเทศกาล PRIDE ครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศไทย
ด้วยขบวนพาเหรดยาวที่สุดในเอเชีย ระยะทาง 6 กิโลเมตร เป็นการแสดงออกถึง ความรัก ความกลมเกลียว ความเท่าเทียม และความเสมอภาค จากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และประชาสังคมมากกว่า 100 องค์กร
ขบวนพาเหรดเคลื่อนจากสนามกีฬาแห่งชาติ ศุภชลาศัย ไปตามถนนพระราม 1 ผ่านย่านปทุมวัน สยาม ราชประสงค์ เพลินจิต อโศก สุขุมวิทและสิ้นสุดที่อุทยานเบญจสิริ
นายวราวุธ กล่าวว่า ขอชื่นชมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่ ไม่เพียงเป็นการยอมรับในสังคมไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการยอมรับในสังคมโลก
อันเป็นภาพลักษณ์ที่งดงามของประเทศไทยในการเสริมสร้างความเสมอภาค นำเสนอภาพลักษณ์ประเทศไทย ในการเป็น Pride Friendly Destination อันเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรในทุกด้าน รวมถึงการท่องเที่ยวที่ประเทศไทย และคนไทยพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มจากทั่วโลกอย่างอบอุ่นและเท่าเทียม
และขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่สอดรับกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาแล้ว เป็นการยืนยันว่าทรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสถานะ มีสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองให้มีความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน
“ผมขอแสดงความยินดี และร่วมเฉลิมฉลองวันแห่งความภาคภูมิใจในครั้งนี้ เพราะพี่น้องชาว LGBTQ+ ต่อสู้กันมาอย่างยาวนานและอดทน พวกเรารู้กันดีว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย และในช่วงเทศกาล Pride Month เห็นพี่น้องคู่รัก LGBTQ+ หลายคู่เฝ้ารอกฎหมายฉบับนี้ ด้วยความหวังที่จะได้ดูแลกันและกันหลายคู่พร้อมจดทะเบียนทันทีเมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้” นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. เราพร้อมทำงานร่วมกับทุกคน พร้อมรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อร่วมผลักดันและสร้างความรู้ความเข้าใจให้การบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีประสิทธิภาพ และพร้อมผลักดันสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ของบุคคลทุกเพศให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
เพราะรัฐบาลเชื่อมั่นว่า ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และ LGBTQ+ ทุกคนต่างมีชีวิตเป็นของตัวเอง ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่อยากทำเป็นในสิ่งที่อยากเป็น และทุกคนมีคุณค่า และควรได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน
“การสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม กระทรวงเราพร้อมที่จะร่วมกันส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างจริงจัง และพร้อมสนับสนุนทุกกิจกรรม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2030”