สมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ เปิด 4 สาเหตุเครนก่อสร้างล้ม ย่านอ่อนนุช 86

03 ก.ค. 2567 | 07:21 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2567 | 07:29 น.

สมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบ เผย 4 สาเหตุเครนก่อสร้างล้ม ซอยอ่อนนุช 86 พบผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 5 คน แนะเช็คปั้นจั่นที่ใช้งาน หวั่นยึดชิ้นส่วนไม่ได้มาตรฐาน

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นายชูเลิศ จิตเจือจุน นายวัฒนพงศ์ หิรัญมาลย์ และนายเอกราช ประกอบกิจ เข้าตรวจสอบพื้นที่เหตุการณ์เครนก่อสร้างล้ม ที่ซอยอ่อนนุช 86 จนมีผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บ 5 คน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสิ่งแวดล้อม กทม. 

สมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ เปิด 4 สาเหตุเครนก่อสร้างล้ม ย่านอ่อนนุช 86

จากการได้รับฟังข้อมูลและตรวจสอบพื้นที่ในเบื้องต้น มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการถล่มของปั้นจั่นดังนี้


1. การถล่มของปั้นจั่นดังกล่าว จัดได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการวิบัติต่อเนื่อง (Progressive collapse)  หมายถึงการวับัติที่เริ่มจากจุดใดจุดหนึ่งและลุกลามให้โครงสร้างทั้งหมดพังถล่มตามลงมา 

 

2. จุดตั้งต้นของการวิบัติเกิดขึ้นขณะที่ปั้นจั่นกำลังยกเหล็กเส้น โดยในขณะที่ยก พบว่าแขนบูมราบที่บริเวณปลายยื่นเกิดหักสองท่อน ซึ่งน่าจะเกิดจากสลักยึด (Pin) ที่ใช้ยึดระหว่างชิ้นส่วนเกิดการหลุด เคลื่อน หรือขาด โดยตรวจพบเศษสลักยึดชิ้นส่วนหลุดลงมาด้วย
 

3. เมื่อแขนปลายบูมด้านที่ยกของหัก ทำให้เกิดสภาวะไม่สมดุลของน้ำหนักถ่วงระหว่างสองด้านของโครงปั้นจั่น เลยทำให้แขนยื่นฝั่งที่มีก้อนคอนกรีตถ่วงน้ำหนัก (Counterweight) ดึงรั้งโครงปั้นจั่นให้ล้มคว่ำลงมาในทิศตรงข้าม พร้อมๆกับดึงแขนปลายบูมจนพลิกกลับด้านมาฟาดที่อาคารสำนักงานชั่วคราว จนทำให้มีผู้เสียชีวิต

สมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ เปิด 4 สาเหตุเครนก่อสร้างล้ม ย่านอ่อนนุช 86

4. ท้ายที่สุด เมื่อโครงปั้นจั่นเสียสมดุล จึงได้ล้มคว่ำพร้อมกับดึงรั้งฐานรากคอนกรีตทั้งฐานจนหลุดออกจากเสาเข็ม พบเหล็กเดือยที่ยึดระหว่างเสาเข็มฐานรากขาด เป็นการวิบัติในลักษณะที่สูญเสียเสถียรต่อการพลิกคว่ำ (Overturning)

 

ทั้งนี้การวิเคราะห์สาเหตุดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นเพียงข้อสันนิษฐานในขั้นต้นเท่านั้น ซึ่งจากนี้ไปจะต้องทำการตรวจสอบละเอียดในเชิงลึกต่อไปว่า การประกอบติดตั้ง การยึดรั้งชิ้นส่วนต่างๆของเครนโดยการใช้สลักยึด (pin) ถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ 
 

อีกทั้งต้องตรวจสอบการออกแบบการยึดระหว่างฐานรากกับเสาเข็ม และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้งานปั้นจั่นตามกฎหมายฯที่เกี่ยวข้อง ในกรณีดังกล่าวหากมีวิศวกรที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นวิศวกรเครื่องกลหรือโยธา สภาวิศวกรก็จะมีหน้าที่สอบสวนวิศวกรดังกล่าวอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตามสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เสนอให้ทำการตรวจสอบปั้นจั่นที่ใช้งานในสถานที่ก่อสร้างอื่นๆ ด้วย เนื่องจากปั้นจั่นเป็นโครงสร้างชั่วคราว

 

หากมีการใช้สลักยึดไม่ถูกต้องเพียง 1 ตัว ก็อาจทำให้โครงสร้างเกิดถล่มได้ทั้งหมด ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปั้นจั่น ต้องทำการตรวจสอบการยึดชิ้นส่วนตามมาตรฐานผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด