thansettakij
เทียบสถานการณ์น้ำปี 54-65-67 กรุงเทพฯเสี่ยง "น้ำท่วม" หรือไม่

เทียบสถานการณ์น้ำปี 54-65-67 กรุงเทพฯเสี่ยง "น้ำท่วม" หรือไม่

27 ส.ค. 2567 | 02:15 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2567 | 02:15 น.

เทียบสถานการณ์น้ำปี 54-65-67 กรุงเทพฯเสี่ยง "น้ำท่วม" หรือไม่ สทนช. ระบุปี 54 มีพายุ 5 ลูกเข้าไทย ปี 65 พบ 1 ลูก และปี 67 มี 2 ลูก ด้านปริมาณฝนสะสม ปี 54 ฤดูฝนไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติและมีฝนตกสะสมต่อเนื่อง

สถานการณ์ "น้ำท่วม" ภาคเหนือถือว่าอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง จนทำให้สร้างความกังวล ให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งห่วงว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 54  

ล่าสุด ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้เกิดข้อกังวลของพี่น้องประชาชนว่าสถานการณ์จะมีความรุนแรงเทียบเท่ากับที่เคยเกิดในปี 2554 

และจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก สทนช. จึงได้รวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นโดยวิเคราะห์ เปรียบเทียบแนวโน้มความเสี่ยงอุทกภัยระหว่าง 3 ปี ได้แก่
 

ปี 2554 ปี 2565 และ ปี 2567 ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ การประเมินพายุจรที่พัดผ่านเข้าประเทศไทย พบว่า ในปี 2554 มีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 5 ลูก 

  • ไห่หม่า เดือน มิ.ย.
  • นกเตน เดือน ก.ค.
  • ไห่ถาง เดือนก.ย.
  • เนสาด เดือน ต.ค.
  • นาลแก ปลาย ต.ค. 

ในปี 2565 มีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 1 ลูก ได้แก่ พายุโนรู ช่วงเดือน ก.ย. และยังได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชันและไต้ฝุ่นที่เข้ามาบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีพายุพัดผ่านเข้าประเทศไทย จำนวน 2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือน ก.ย.หรือ ต.ค.
 

และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณฝนสะสม พบว่า ปี 2554 ฤดูฝนในประเทศไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติและมีฝนตกสะสมต่อเนื่อง โดยไม่มีภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าค่าปกติ 24% และมีค่ามากที่สุดในคาบ 61 ปี (นับจาก พ.ศ.2494) ในปี 2565 มีปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศ 1,876 มม. สูงกว่าค่าปกติ 27% หรือมากที่สุดเมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 40 ปี ซึ่งหมายรวมถึงมากกว่าปี 2554 ที่ประเทศไทยเกิดอุทกภัยร้ายแรง แต่ในปี 2565 กลับพบว่าสถานการณ์อุทกภัยไม่รุนแรงและยาวนานเหมือนปี 2554

สำหรับปี 2567 ณ เดือน ส.ค.นี้ปริมาณฝนในภาพรวมของประเทศไทย ยังคงต่ำว่าค่าปกติ 4% และต่ำกว่า ปี 2554

เปรียบเทียบศักยภาพในการรองรับน้ำของ 4 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 24 ส.ค. ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ พบว่า ปี 2554 สามารถรองรับได้ 4,647 ล้าน ลบ.ม. ส่วน ปี 2565 สามารถรองรับ 11,929 ล้าน ลบ.ม. สำหรับปี 2567 ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 12,071 ล้าน ลบ.ม.

เมื่อดูที่ปริมาณน้ำท่า ณ วันที่ 24 ส.ค. พบว่า ปี 2554 สถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,284 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 4,689 ลบ.ม./วินาที) และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) 1,832 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 3,726 ลบ.ม./วิ) ในปี 2565 สถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,582 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 3,099 ลบ.ม./วินาที) และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) 1,500 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 3,169 ลบ.ม./วินาที) สำหรับปี 2567 ปริมาณน้ำท่ายังคงอยู่ในการควบคุมและเป็นไปตามแผน กล่าวคือ ที่สถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 837 ลบ.ม./วินาที (คาดว่าจะสูงสุด 2,860 ลบ.ม./วินาที) และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) 499 ลบ.ม./วินาที (คาดว่าสูงสุด 2,700 ลบ.ม./วินาที)

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปรากฏการณ์เอนโซ จากสภาวะเอลนีโญสู่สภาวะลานีญา ประกอบกับอิทธิพลของมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ต่างๆ และส่งผลให้เกิดน้ำหลากในหลายพื้นที่ จากการติดตามประเมินสถานการณ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างใกล้ชิดของหน่วยงานต่างๆ พบว่า ปริมาณฝนตกในทุกพื้นที่ขณะนี้ระดับความรุนแรงยังเทียบไม่ได้กับปี 2554

อย่างไรก็ดี ยังคงต้องเฝ้าระวังและเตรียมแผนบริหารจัดการกรณีเกิดพายุที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย สำหรับผลกระทบและความเสียหายที่ประชาชนได้รับขณะนี้ จะขอให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณาใช้งบกลางปี 2567 ในการแก้ไขปัญหาและเข้าให้ความช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เนื่องจาก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะของน้ำหลากทะลักเข้าท่วมในพื้นที่อย่างฉับพลันเกินกว่าจะทันตั้งตัว โดยหน่วยงานต่างๆ ได้มีกลไกในการดำเนินการอยู่แล้วในลักษณะการตั้งรับปัญหาไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะเร่งเข้าแก้ไขให้สถานการณ์กลับสู่ปกติโดยเร็วต่อไป

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ณ วันนี้ 25 ส.ค.67 บริเวณภาคเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยมีปริมาณฝนตกสะสม 24 ชม. สูงสุดวัดได้ที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย 147 มิลลิเมตร อ.ลอง จ.แพร่ 96 มิลลิเมตร และ อ.สองแคว จ.น่าน 93 มิลลิเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ซี่งขณะนี้ แม่น้ำน่านและแม่น้ำสาขา ยังคงมีน้ำล้นตลิ่ง ที่ อ.เวียงสา จ.น่าน ระดับน้ำ 8.53 ม. สูงกว่าระดับตลิ่ง 2.03 ม. ทั้งนี้ สทนช. ประสานกรมชลประทานเร่งบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำน่าน โดยปริมาณน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านจะไหลลงเขื่อนสิริกิติ์ซึ่งขณะนี้ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 2,990 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับลุ่มน้ำยมได้พร่องน้ำในแม่น้ำยมสายเก่า อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ และเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ 265,000 ไร่ เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากพื้นที่แม่น้ำยมตอนบน และผันน้ำไปยังแม่น้ำน่าน ทั้งนี้จะทำให้ปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 400 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 944 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำโดยรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในอัตราที่เหมาะสม พร้อมปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 649 ลบ.ม./วินาที คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงได้ทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 700 - 900 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะไม่สงผลกระทบให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ จนถึง จ.สมุทรปราการ