สรุปสถานการณ์สาธารณภัยทั่ว ปท. พื้นที่ 12 จังหวัด 30,073 ครัวเรือน รับผลกระทบ

15 ก.ย. 2567 | 08:28 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2567 | 08:42 น.

ปลัดมหาดไทย เผยสถานการณ์สาธารณภัยทั่วประเทศ ขณะนี้ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด 39 อำเภอ 182 ตำบล 797 หมู่บ้าน 30,073 ครัวเรือน สั่งการผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ แจ้งเตือนพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ พร้อมเน้นย้ำสายด่วน 1567 และ 1784 พร้อมช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

วันนี้ (15 ก.ย. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากรายงานข้อมูลสถานการณ์สาธารณภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เมื่อเวลา 06.00 น. วันนี้ พบว่า ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 12 จังหวัด

สรุปสถานการณ์สาธารณภัยทั่ว ปท. พื้นที่ 12 จังหวัด 30,073 ครัวเรือน รับผลกระทบ

ประกอบด้วย เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ หนองคาย เลย อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี รวม 39 อำเภอ 182 ตำบล 797 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 30,073 ครัวเรือน

โดยสรุปได้ ดังนี้

สรุปสถานการณ์สาธารณภัยทั่ว ปท. พื้นที่ 12 จังหวัด 30,073 ครัวเรือน รับผลกระทบ

1. จังหวัดเชียงราย ได้รับผลกระทบน้ำท่วมรวมทั้งสิ้น 6 อำเภอ 29 ตำบล 147 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.แม่สาย อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่จัน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เมืองเชียงราย ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,865 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ 13,877 ไร่ โดยในการช่วยเหลือด้านสาธารณสุขมีการวางแผนคลินิกเคลื่อนที่ตามหมู่บ้านที่ประสบภัยและในศูนย์พักพิงฯ ให้การช่วยเหลือดูแลผู้ประสบภัยที่ต้องรักษาอย่างใกล้ชิด

โดยตั้งแต่วันนี้ถึง 18 กันยายน 2567 และจะดำเนินการตามแผนการฟื้นฟูด้วยการทำความสะอาดใหญ่ (Big Cleaning) ในตัวเมืองเชียงราย และบริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้ประสานขอความร่วมมือจากผู้นำท้องถิ่นท้องที่ของอำเภอที่ไม่ได้ประสบภัยพิบัติ เข้ามาร่วมให้ความช่วยเหลือในการทำความสะอาดอาคารสถานที่ บ้านเรือนของพี่น้องประชาชน

สรุปสถานการณ์สาธารณภัยทั่ว ปท. พื้นที่ 12 จังหวัด 30,073 ครัวเรือน รับผลกระทบ

2. จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับผลกระทบน้ำท่วม 2 อำเภอ รวม 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.สบเมย และ อ.ปางมะผ้า ประชาชนได้รับผลกระทบ 79 ครัวเรือน สำหรับการให้ความช่วยเหลือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดศูนย์พักพิง 4 แห่ง และศูนย์ให้ความช่วยเหลือ 2 แห่ง โดยให้ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด แม่ฮ่องสอน ดูแลประชาชนในส่วนของกลุ่มเปราะบาง การซ่อมแซมไฟฟ้า นอกจากนี้ ได้มอบถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมอบสิ่งของ และถุงยังชีพ ให้แก่ผู้ป่วยติดเตียง ที่ขอรับการช่วยเหลือจากเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันปริมาณน้ำสาละวินเริ่มลดลงแล้วในตอนนี้ แต่ยังคงต้องมีการเฝ้าระวังหากเกิดฝนตกหนักลงมาอีก

3. จังหวัดน่าน ได้รับผลกระทบน้ำท่วม 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเวียงสา เกิดเหตุฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากทะลักเข้าท่วมบ้านประชาชน บ้านน้ำม่วบ หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำม่วบ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน มีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 25 หลังคาเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิต ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบความเสียหาย ในส่วนการช่วยเหลือในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยแล้ว ขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้กำชับให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สรุปสถานการณ์สาธารณภัยทั่ว ปท. พื้นที่ 12 จังหวัด 30,073 ครัวเรือน รับผลกระทบ

4. จังหวัดตาก ได้รับผลกระทบ น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.พบพระ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด และ อ.ท่าสองยาง รวม 11 ตำบล 31 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 720 ราย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีผู้เสียชีวิต ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำเมยลดลงแล้ว ในส่วนการช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้น ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการอุทกภัย ณ พื้นที่เกิดเหตุขึ้น บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 1 เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้งส่งอาหารกล่องไปให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัยที่อยู่ตามบ้านเรือนต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตากได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำเมยอย่างใกล้ชิด

5. จังหวัดสุโขทัย สถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายลงแล้ว ในปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมยังคงอยู่ในพื้นที่ของอำเภอกงไกรลาศที่ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่เกษตรกรรมของพี่น้องประชาชน 13 ตำบล 15 หมู่บ้าน 198 ครัวเรือน และในพื้นที่อำเภอคีรีมาศ สถานการณ์ภาพรวม ไม่มีน่าเป็นห่วง เพราะว่าพื้นที่น้ำท่วมส่วนมากจะเป็นพื้นที่ท้องทุ่งสามารถรับน้ำได้อยู่แล้ว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนเร่งฟื้นฟูทำการช่วยเหลือประชาชน โดยได้ระดมผู้นำท้องถิ่นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร ช่วยกันทำความสะอาดขนย้ายของกลับเข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัย

6. จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง 5 อำเภอ ได้แก่ อ.นครไทย อ.วังทอง อ.เนินมะปราง และ อ.บางกระทุ่ม อ.บางระกำ, อ.พรหมพิราม ที่อาจเกิดน้ำท่วมสูง โดยระดับน้ำล่าสุด แม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำและระดับน้ำ เริ่มมีแนวโน้มลดลงจากเมื่อวาน ระดับสถานการณ์ปกติ เขื่อนสิริกิติ์และ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำไหลเข้าและเก็บกักปริมาณมาก ต้องระบายน้ำเพิ่มให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ซึ่งจังหวัดจะได้ทำการสำรวจความช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก่อนหน้า และต้องขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังดังกล่าวโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง และเตรียมความพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และระมัดระวังไฟฟ้าที่อยู่ในที่ต่ำน้ำท่วมถึง

7. จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ชนแดน อ.หนองไผ่ อ.บึงสามพัน อ.เมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งแนวโน้มสถานการณ์ระดับน้ำทรงตัว แนวโน้มลดลง ฝนอยู่ในระดับเฝ้าระวังต่อเนื่อง ไม่พบกลุ่มฝนในพื้นที่ และจะเข้าสู่ภาวะปกติ ในเร็วนี้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ให้นายอำเภอ บัญชาการเหตุการณ์ โดยแจ้งเตือนทุกอำเภอ ติดตามสถานการณ์ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากน้ำล้นตลิ่งอย่างต่อต่อเนื่อง เตรียมความพร้อม เครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องจักรกล ยุทโธปกรณ์ กำลังพลพร้อมให้ความช่วยเหลือทันที ตลอด 24 ชั่วโมงเมื่อได้รับการร้องขอ และให้พี่น้องประชาชนติดตามข่าวสาร เฝ้าระวังจากทางราชการตลอด 24 ชม.

8. จังหวัดหนองคาย มีพื้นที่ที่รับผลกระทบน้ำท่วมจำนวน 5 อำเภอ ได้รับผลกระทบมากที่ในพื้นที่อ.โพนพิสัยที่มีน้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันน้ำได้เริ่มลดระดับลงแล้ว และมีพื้นที่เฝ้าระวังก็คือพื้นที่ในเขต อ.เมืองหนองคาย โดยท่าน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ลงพื้นที่มาติดตามการช่วยเหลือ ได้สั่งการให้ทุกฝ่ายบูรณาการกำลังกันเพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้ทางชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน อสม. เข้าดูแลพื้นที่ศูนย์พักพิงเพื่อรักษาความปลอดภัยจัดเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง ในเบื้องต้นได้มีการมอบถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชนแล้ว ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์น้ำลดลงแล้วจะได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมต่อไป

9. จังหวัดเลย ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมี 2 อำเภอคือพื้นที่ อ.และ อ.เชียงคาน เนื่องจาก อ.ปากชมเป็นพื้นที่ต่ำ 3 ตำบล ที่น้ำโขงท่วมเข้ามา เป็นพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่ มีบ้านเรือน 7 หลังคาเรือน ท่วมหนัก 1 หลังคาเรือนได้เคลื่อนย้ายสิ่งของออกมาอยู่บนที่สูง ในพื้นที่การเกษตร เกษตรจังหวัดเลยได้ออกสำรวจความเสียหายแล้ว ส่วน อ.เชียงคาน มีผลกระทบ 4 ตำบล โดยในวันนี้น้ำโขงมีปริมาณ 16.35 เมตร เพิ่ม 0.5 เมตร ในจุดเฝ้าระวัง หรือจุดวิกฤต 16 เมตร ซึ่งในบางจุดระดับตลิ่งอยู่ที่ 19.19 เมตร จุดต่ำที่วิกฤติคือ 16 เมตร ซึ่งวันนี้มีน้ำโขงเอ่อล้น และ ดันเข้ามาในลำน้ำในตัว อ.เชียงคาน 4 ตำบล พื้นที่เกษตรเป็นส่วนใหญ่ มีโรงแรมที่พัก 2 แห่ง เป็นรีสอร์ท ติดลำน้ำโขง 2 แห่ง ท่วมเต็มพื้นที่ โดยให้เคลื่อนย้ายสิ่งของผู้ประกอบการออกมาอยู่ในที่สูง เพื่อความปลอดภัย ทั้งสองอำเภอเกิดเหตุการณ์ 7 ตำบล 18 หมู่บ้าน เสียหาย 7 หลังคาเรือน

10. จังหวัดอ่างทอง ภาพรวมระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา (หน้าศาลากลาง อ.เมือง) ระดับคันกั้นน้ำ 10.00 เมตร มีระดับน้ำ 5.26 เมตร ลดลง 0.22 เมตร ระดับน้ำแม่น้ำน้อย (หลังวัดตูม ต.ม่วงเตี้ย อ.วิเศษชัยชาญ) ระดับคันกั้นน้ำ 6.50 เมตร มีระดับน้ำ 4.48 เมตร เพิ่มขึ้น 0.03 เมตร และระดับน้ำแม่น้ำน้อย (ม.9 ซอย 4 ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ) ระดับคันกั้นน้ำ 5.00 เมตร มีระดับน้ำ 4.06 เมตร ลดลง 0.05 เมตร

11. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่งจำนวน 7 อำเภอ คือ 1) อ.ผักไห่ 13 ตำบล 75 หมู่บ้าน 2,582 ครัวเรือน 2) อ.เสนา 11 ตำบล 77 หมู่บ้าน 3,403 ครัวเรือน 3) อ.บางบาล 14 ตำบล 66 หมู่บ้าน 3,756 ครัวเรือน 4) อ.บางไทร 21 ตำบล 88 หมู่บ้าน 2,587 ครัวเรือน 5) อ.พระนครศรีอยุธยา 11 ตำบล 30 หมู่บ้าน 584 ครัวเรือน 6) อ.บางปะอิน 11 ตำบล 71 หมู่บ้าน 1,847 ครัวเรือน และ7) อ.บางปะหัน 1 ตำบล 4 หมู่บ้าน 61 ครัวเรือน รวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 7 อำเภอ 82 ตำบล 411 หมู่บ้าน 12,820 ครัวเรือน

12. จังหวัดปราจีนบุรี มีน้ำท่วมขังรอการระบายอยู่ประมาณสองตำบลบ้านพระ และตำบลไม้เค็ด ในเขตพื้นที่ อ.เมืองปราจีนบุรี โดยมีประมาณ 200 ครัวเรือนได้รับผลกระทบ โดยในส่วนของจังหวัดปราจีนบุรี ได้มีการซักซ้อมวางแผนในส่วนของแผนเผชิญเหตุ อุทกภัย วาตภัย มีการแบ่งภารกิจในเชิงพื้นที่ในการที่จะเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้น โดยเน้นการช่วยเหลืออย่างได้รับความปลอดภัย ไม่ให้มีการสูญเสียชีวิต ในช่วงนี้เรื่องของฤดูฝนที่อาจจะมีอุทกภัยวาตภัยบางแห่ง มีลมพัดรุนแรง ได้มีเฝ้าติดตามในส่วนของพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ภูเขาต่าง ๆ หากมีน้ำหลากมาเยอะ ก็จะมีการแจ้งเตือนเป็นระยะ เพื่อเตรียมความพร้อมในการอพยพ ร่วมไปถึงการประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยขอให้พี่น้องประชาชนรับฟังข่าวสารติดต่ออย่างใกล้ชิด

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีความเสี่ยง ได้ติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าและดำเนินการ ติดตามปริมาณฝนตกอย่างใกล้ชิด รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ พร้อมให้สั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ออกประกาศ/ติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และเครื่องมือเครื่องจักรกล อุปกรณ์ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนหากเกิดประสบภัยอย่างทันท่วงที โดยพี่น้องประชาชนสามารถแจ้งขอรับความช่วยเหลือทางสายด่วน ศูนย์ดำรงธรรม 1567 และสายด่วนนิรภัย 1784 ซึ่งเจ้าหน้าที่พร้อมให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

.นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ วันที่ 15 ก.ย. 67 เวลา 08.00 น. ได้แจ้งเตือน ให้พื้นที่เสี่ยง เตรียมความพร้อมและเฝ้าระวัง ดังนี้

- จ.เชียงราย เตรียมพร้อมน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง

- จ.เลย หนองคาย นครพนม และ จ.บึงกาฬ เตรียมพร้อมระดับแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น

- จ.น่าน เลย มหาสารคาม ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ จ.สตูล เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในระยะสั้น

- จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตาก น่าน สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย อุดรธานี อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง

- จ.พังงา เฝ้าระวังดินถล่ม

- จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ จ.สตูล เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณปากแม่น้ำ และพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่ง และจ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เฝ้าระวังคลื่นลมแรง