วันที่ 18 กันยายน 2567 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสาน 10 จังหวัด ภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงแจ้งจังหวัดประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า 1 - 7 วันข้างหน้า คาดว่าในวันที่ 24 กันยายน 2567 ที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 1,500 - 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำ Sideflow ประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
เมื่อรวมกับคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังประมาณ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบกรมชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง ในอัตรา 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะมีการระบายเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.60 – 1.00 เมตร ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2567 เป็นต้นไป