กทม.เตรียมรับน้ำเหนือ-ฝนตก เตือนชุมชนนอกแนวเขื่อนริมเจ้าพระยาเฝ้าระวัง

19 ก.ย. 2567 | 02:52 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 03:22 น.

กทม.เตรียมรับมือน้ำเหนือ ฝนตกหนัก พร้อมเตือนชุมชนนอกแนวเขื่อนริมเจ้าพระยา เฝ้าระวังระดับน้ำวันนี้ 19-23 ก.ย.67

สืบเนื่องจากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ออกมาเตือนเรื่อง พายุ “ดีเปรสชัน” ฉบับที่ 8 คาดการณ์ในช่วงวันที่ 19-23 ก.ย. 67 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมแรงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย นั้น

 

ล่าสุดนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม โดยได้จัดเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังตามจุดอ่อนหรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม รวมทั้งได้จัดเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน หากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือได้ในทันทีตลอด 24 ชั่วโมง 
 

นอกจากนี้ ยังได้จัดเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนงอยู่เป็นประจำ 

 

ทั้งนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแนวป้องกันน้ำท่วมความยาวประมาณ 87.93 กม. ประกอบด้วยแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรของกรุงเทพมหานครความยาวประมาณ 79.63 กม. ซึ่งมีระดับความสูงของคันกั้นน้ำอยู่ที่ระดับ+2.80 ม.รทก. ถึง +3.50 ม.รทก. (เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง) สามารถรองรับปริมาณน้ำเหนือหลากที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานครได้ที่ปริมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

 

ส่วนของแนวป้องกันตนเองของหน่วยงานราชการอื่นและของเอกชนความยาวประมาณ 8.30 กม. เช่น แนวป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทาน แนวป้องกันน้ำท่วมของกองทัพเรือ แนวป้องกันน้ำท่วมของธนาคารแห่งประเทศไทย แนวป้องกันน้ำท่วมของศาสนสถานหรือศาลเจ้า ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า อู่จอดเรือ ร้านค้า สถานประกอบการร้านอาหารริมน้ำ อาคารโกดังสินค้า เป็นต้น 

 

"ในส่วนของแนวป้องกันตนเองบางแห่งมีระดับของแนวคันกั้นน้ำต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรง มีการรั่วซึมหรือแนวฟันหลอ ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการเรียงกระสอบทรายเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำ อุดจุดรั่วซึม เพื่อให้สามารถป้องกันน้ำเหนือหลาก น้ำทะเลหนุนสูงได้อย่างปลอดภัยและจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง"
 

สำหรับชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วม ต้องติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ เวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด บางชุมชนอาจจะได้รับผลกระทบเรือวิ่งผ่านไปมาด้วยความเร็วทำให้แรงคลื่นกระทบพื้นบ้าน ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกรมเจ้าท่าช่วยตรวจสอบ กำชับและใช้มาตรการเรื่องการเดินเรือเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบบ้านเรือนของประชาชน

 

ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงบริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถติดตามสถานการณ์น้ำรวมถึงแจ้งเหตุเดือดร้อนและขอรับความช่วยเหลือจาก กทม. ผ่านช่องทางดังต่อไปนี้

  • เว็บไซต์กทม.(คลิกที่นี่)
  • ประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร (คลิกที่นี่)
  • เฟซบุ๊ก@BKK.BEST หรือ กรุงเทพมหานคร
  • ทวิตเตอร์ (X) @BKK_BEST กรุงเทพมหานคร

แจ้งจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมบนถนนสายหลัก และรับแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ

  • โทร. 1555
  • ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0 2248 5115
  • แจ้งทางทราฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue)

 

ขณะที่สถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน วันที่ 19 กันยายน 2567  ปริมาณน้ำผ่านจุดสำคัญ มีรายละเอียดดังนี้


สถานีจุดวัดน้ำ จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,095 ลบ.ม./วินาที

  • อัตราระบายน้ำเฝ้าระวัง อยู่ที่ 3,660 ลบ.ม./วินาที

จุดวัดน้ำบริเวณเขื่อนเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,049 ลบ.ม./วินาที

  • อัตราระบายน้ำเฝ้าระวัง อยู่ที่ 2,730 ลบ.ม./วินาที

สถานีจุดวัดน้ำบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,286 ลบ.ม./วินาที

  • อัตราระบายน้ำเฝ้าระวัง อยู่ที่ 2,500 ลบ.ม./วินาที

 

สถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร