วันที่ 27 กันยายน 2567 กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา โดยระบุว่าปัจจุบันมีฝนตกทางพื้นที่ตอนบนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ กรมชลประทาน ได้ทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในระยะนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ริมน้ำทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา/แม่น้ำน้อย รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ
กรมชลประทานขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ เฝ้าระวังระดับน้ำจากฝนที่ตกสะสมในพื้นที่และปริมาณน้ำจากทางตอนบนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น และมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยากรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไป
สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์
สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท
อัพเดตล่าสุดเมื่อเวลา15.00 น ที่ผ่านมา กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่า สถานนีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,934 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมกับปริมาณจากแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลมาสมทบ จะทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามลำดับ
กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลองและสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ พร้อมปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตรา 1,800 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากพื้นที่ทางตอนบนของลุ่มน้ำ ยังคงมีฝนตกกระจายหลายพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทานจึงจะทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ดังนี้
จากสถานการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา , ต.ลาดชิด , ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) เพิ่มสูงขึ้น
อนึ่งกรมอุทกศาตร์ทหารเรือ ได้คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 2 ตุลาคม 2567 จะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้พื้นที่เสี่ยงบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราว และบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังระดับน้ำด้วยเช่นกัน
ส่วนสถานการณ์ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กรมชลประทาน ได้แจ้งเตือนว่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีการปรับเพิ่มการระบายน้ำ หลังจากมีปริมาณน้ำสะสมจากฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูล ณ วันที่ 26 ก.ย.67 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 545 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57% (ระดับเก็บกักน้ำสูงสุด 960 ล้าน ลบ.ม.)ยังสามารถรับน้ำได้อีก 415 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับสถานการณ์และควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม กรมชลประทาน จึงทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได โดยมีรายละเอียดดังนี้
การระบายน้ำดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 0.60 – 0.80 เมตร โดยระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ยังอยู่ในลำน้ำและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมตลิ่ง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมตลิ่งและพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังระดับน้ำและการแจ้งเตือนจากหน่วยงานทางราชการอย่างใกล้ชิด หากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น และมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไป
ขณะที่เหตุการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ ระดับแม่น้ำปิงที่สูงและหลายคนมีความกังวลใจว่า น้ำจากแม่น้ำปิงจะไหลไปไหนต่อ ล่าสุดกรมชลประทานได้ออกมาเปิดเผยว่า น้ำหลากจากแม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ จะไหลไปที่จังหวัดตาก ลงสู่เขื่อนภูมิพล ซึ่งสามารถรับน้ำได้ทั้งหมด และยังสามารถเก็บไว้ใช้ในปีหน้าต่อไป