วันนี้ (27 กันยายน 2567) ที่จังหวัดเชียงราย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะลงพื้นที่ และเป็นประธานการประชุมบูรณาการแผนฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า นายกฯ ได้มอบนโยบายให้กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดการจ่ายค่าเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุดและมอบหมายปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเพิ่มค่าเยียวยาประชาชนที่เดือดร้อนและทรัพย์สินเสียหาย ให้เหมาะสม
ส่วนการแก้ปัญหาดินโคลนที่ติดค้างอยู่ในบ้านเรือนของประชาชน โดยให้ระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน แบ่งขอบเขตโซนความรับผิดชอบในการทำงาน มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เคลื่อนการแก้ปัญหาให้เสร็จโดยด่วน โดยให้ส่วนราชการอื่น ๆ สนับสนุนเครื่องจักร/เครื่องมือ และอัตรากำลังคน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเต็มกำลัง
พร้อมกันนี้ยังให้กระทรวงการคลัง ได้เตรียมดำเนินการเรื่อง Soft loan สำหรับฟื้นฟูกิจการ หรือซ่อมแซมที่พักอาศัยหลังน้ำลด วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายสำหรับกลุ่ม Micro SME ขึ้นไป รวมถึงบุคคลธรรมดา ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด และซ่อมแซม มอบให้แก่ผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก รวมถึงสินค้าธงฟ้าในราคาประหยัด เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้
“การจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการเบิกจ่ายให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด รวมถึงมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม ที่ทุกภาคส่วนจะเร่งเสนอต่อครม. ต่อไป” นายกฯ ระบุ
ทั้งนี้ นายกฯ ยังได้สั่งการต่อที่ประชุม โดยให้จัดตั้ง ศปช. ปฎิบัติการส่วนหน้า เพื่อเป็นศูนย์สั่งการ และประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยให้ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช. มหาดไทย เป็นประธาน และนายณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช. กลาโหม เป็นที่ปรึกษา โดยให้ประจำที่หน้างานเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยให้มีการระดมพลผ่านทางกระทรวงกลาโหม และกระทรวงยุติธรรม ร่วมกับอาสาสมัคร และหน่วยงานเอกชนต่างๆ
ขณะที่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่เขตอำเภอเมืองเชียงรายและอำเภอแม่สาย ให้ดำเนินการดังนี้
1. ให้กระทรวงมหาดไทย ให้มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ (zoning) ให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และอธิบดี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประชุมติดตามผลการดำเนินงาน และปัญหา อุปสรรค จากหัวหน้าหน่วยที่รับผิดชอบแต่ละโซนทุกวัน เพื่อรายงานไปยังศปช. สนับสนุนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหา เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผน ที่วางไว้ต่อไป
โดยรัฐบาลขอตั้งเป้าหมายในพื้นที่ที่ได้เริ่มเยียวยาแล้วภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2567 นี้ ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จอย่างเร่งด่วน
2. ให้ทุกส่วนราชการสนับสนุนเครื่องจักร/เครื่องมือ บุคลากร ในการดำเนินงาน โดยรายงานไปที่ศูนย์ศปช. และสำเนาผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงราย และอธิบดีกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยทราบด้วย
3. หากพบว่าเครื่องจักร/เครื่องมือมีไม่เพียงพอ ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีการจัดจ้างจากเอกชน เพื่อระดมการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยมอบหมายให้ กรมบัญชีกลาง พิจารณากระบวนการจัดจ้างให้เกิดความรวดเร็ว โดยไม่ขัดกับระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณกับหน่วยงาน ดำเนินการ เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชนต่อไป
4. การอำนวยความสะดวกเพื่อซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน ถนน สะพาน เสาไฟฟ้า อ่างเก็บน้ำ ท่อระบายน้ำ ตลอดจนการบริหารจัดการขยะ และโคลน ให้ผ่อนผันเรื่องการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และที่ราชพัสดุ ที่ส่วนราชการต่างๆใช้อยู่ เช่น พื้นที่ของกองทัพ โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อ คณะรัฐมนตรีต่อไป
5. ระบบเตือนภัย ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเร่งรัดดำเนินการ ทั้งในพื้นที่นี้ และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศที่มีความเสี่ยง ให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนปีหน้า
6. เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว มอบหมาย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง วางแผนการแก้ไข ปัญหาระยะกลาง และระยะยาว เช่น การขุดลอกแม่น้ำสายไม่ให้ตื้นเขิน พิจารณา ขยายสะพานหรือท่อระบายน้ำ เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ การป้องกัน การพังทลายของ ตลิ่งและการจัดทำระบบเตือนภัย และสรุปผลเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาโดยด่วนต่อไป