ไฟไหม้รถบัส "กรมขนส่ง" ตั้งคณะกรรมการสอบ-โยกย้ายข้าราชการ 2 ราย

03 ต.ค. 2567 | 01:19 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2567 | 01:25 น.

"กรมขนส่งทางบก" ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง สั่งโยกข้าราชการ 2 ราย เหตุไฟไหม้รถบัส หากพบทำผิดจ่อดำเนินการทางวินัยขั้นสูงสุด

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า จากกรณีรถบัสนำนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี มาทัศนศึกษา ซึ่งประสบอุบัติเหตุเกิดเพลิงไหม้ ณ บริเวณใกล้ทางแยกต่างระดับอนุสรณ์สถาน จ.ปทุมธานี ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

ดังนั้นกระทรวงคมนาคม จึงได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน และดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัย โดยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำเดิม

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางบกได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว

ขณะเดียวกันให้ข้าราชการ จำนวน 2 ราย ตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย (นายช่างตรวจสภาพรถชำนาญงาน) และนายช่างตรวจสภาพรถชำนาญงาน ฝ่ายตรวจสภาพรถ สำนักงานขนส่งจังหวัดสิงห์บุรี

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ข้าราชการทั้ง 2 รายไปช่วยราชการ ณ กรมการขนส่งทางบกเพื่อให้การสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หากพบการกระทำความผิดกรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการทางวินัยขั้นสูงสุด

"ในนามของกรมการขนส่งทางบกขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งจะดำเนินมาตรการด้วยความปลอดภัยดังกล่าวอย่างเคร่งครัดต่อไป" นายจิรุตม์ กล่าว

ขณะเดียวกันกรมการขนส่งทางบกได้รับมอบนโยบายกระทรวงคมนาคม ดังนี้

1. มอบหมายกรมการขนส่งทางบกเรียกรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง ที่ใช้เชื้อเพลิง CNG ทั้งหมดจำนวน 13,426 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2567) เข้ารับการตรวจสภาพรถภายใน 60 วัน

2. ยกระดับมาตรฐานการประกอบการขนส่งรถโดยสารไม่ประจำทาง (30) ทั้งระบบ (การประกอบการ การตรวจสภาพ การให้บริการ)

3. มอบหมายกรมการขนส่งทางบกบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษา สถานศึกษาทั่วประเทศ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ทั้งนี้ในกรณีมีความจำเป็นต้องใช้รถเช่าเหมาหรือรถโดยสารไม่ประจำทาง (30) นำนักเรียนหรือผู้สูงอายุ ไปทัศนศึกษาหรือเดินทางนอกพื้นที่ ขอให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานสำนักงานขนส่งจังหวัดเพื่อนำรถมาตรวจสอบความปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง

4. ออกกฎหมายให้มีพนักงานประจำรถเช่นเดียวกับรถโดยสารประจำทาง โดยพนักงานและผู้ประจำรถต้องได้รับ การอบรมและผ่านการทดสอบหลักสูตรการเผชิญเหตุและการช่วยเหลือผู้โดยสาร (Crisis Management)

5. ออกกฎหมายระเบียบเพื่อให้ผู้ประกอบการต้องแนะนำข้อมูลและแนวทางเผชิญเหตุฉุกเฉินในการใช้บริการ (เช่นเดียวกับสายการบิน)