ด่วน รัฐบาลแจ้ง 7 จังหวัด ริมน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ขนของขึ้นที่สูง

06 ต.ค. 2567 | 12:16 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2567 | 12:27 น.

ด่วน รัฐบาลแจ้ง 11 จังหวัด ริมน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา รวม 11 จังหวัด ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ย้ายของขึ้นที่สูง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัด เช็ครายละเอียดพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบได้ที่นี่

วันนี้ (6 ตุลาคม 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้า จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง  สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี อุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ

โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัด ได้ประสานทุกจังหวัดให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้าแล้ว ขอให้ประชาชนขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด 

 

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช.

 

ทั้งนี้รัฐบาลย้ำเตือนประชาชนในบริเวณพื้นที่ลุ่มริมน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา รวม 11 จังหวัด ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ภายหลังเขื่อนเจ้าพระยาปรับการระบายน้ำ มาอยู่ที่อัตรา 2,200 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่เวลา 16.00 น.วันนี้ (6 ตุลาคม 2567) และยังคงการระบายน้ำที่อัตราดังกล่าว

สำหรับพื้นที่เสี่ยงบริเวณพื้นที่ลุ่มริมน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่ 

  • คลองโผงเผง คลองบางบาล แม่น้ำน้อย และพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำบริเวณ จ.ชัยนาท
  • อ.สรรพยา และวัดสิงห์ (ตำบลโพนางดำตก) จ.ชัยนาท
  • อ.เมืองสิงห์บุรี พรหมบุรี และอินทร์บุรี (วัดสิงห์ วัดเสือข้าม) จ.สิงห์บุรี 
  • อ.ป่าโมกและไชโย (วัดไชโย) จ.อ่างทอง 
  • อ.พระนครศรีอยุธยา บางบาล ผักไห่ (ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง) และเสนา (ตำบลหัวเวียง) จ.พระนครศรีอยุธยา 
  • อ.เมืองปทุมธานีและสามโคก จ.ปทุมธานี 
  • อ.ปากเกร็ด (ตำบลท่าอิฐ) อ.เมืองนนทบุรี (ต.ไทรม้าและบางไผ่) จ.นนทบุรี 

“แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง  สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี อุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร  และสมุทรปราการ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัด ได้ประสานทุกจังหวัดให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้าแล้ว ขอให้ประชาชนขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด”

ส่วนกรณีกระแสข่าวว่า มวลน้ำมหาศาลกำลังเคลื่อนตัวกระจายไปตามเส้นทางต่างๆ นั้น นายจิรายุฯ กล่าวว่า สทนช.และกรมชลประทาน ชี้แจงว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำที่จังหวัดเชียงใหม่มีแนวโน้มลดลง คาดว่าระดับน้ำจะกลับเข้าสู่ตลิ่งในวันพรุ่งนี้ (7 ตุลาคม 2567) และปริมาณน้ำส่วนนี้จะไหลต่อเนื่องเข้าสู่พื้นที่ อ.สารภี และเข้าสู่เขต ต.อุโมงค์ อ.เมือง จังหวัดลำพูน ลงสู่ลำน้ำแม่กวง แล้วจึงไหลผ่านตัวเมืองลำพูน ก่อนไหลกลับลงสู่แม่น้ำปิงอีกครั้งหนึ่งที่บ้านสบทา อ.ป่าซาง 

 

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช.

 

อย่างไรก็ตามในขณะนี้มีน้ำที่ท่วมขังในพื้นที อ.สารภี จ.เชียงใหม่ บางพื้นที่ เช่น ต.หนองผึ้ง ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.8 - 1.50 ม. จังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดที่มีน้ำท่วมขัง เร่งระบายน้ำสู่พื้นที่ตอนล่าง 

ส่วนพื้นที่ อำเภอเมืองลำพูน(ตำบลเหมือนง่า อุโมงค์ ริมปิง ประตูป่า เวียงยอง หนองช้างคืน ต้นธง บ้านแป้น) จ.ลำพูน ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.3 - 0.5 ม. แล้ว คาดการณ์ระดับน้ำท่วมสูงสุดบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำในจังหวัดลำพูน อาจสูงได้ถึง 0.8 – 1.5 ม.  กรมชลประทานได้กำจัดวัชพืชในทางน้ำ และเตรียมการติดตั้งเครื่องสูบน้ำสำหรับการเร่งระบายน้ำในพื้นที่โดยให้สามารถระบายน้ำได้เท่ากับที่จังหวัดเชียงใหม่สูบระบายน้ำลงมา

สำหรับการเดินทางไปเส้นทางภาคเหนือมีการปรับการให้บริการ เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ขยายวงกว้าง นายจิรายุฯ กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้กำหนดจุดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีนครลำปาง สถานีลำพูนและสถานีขนส่งอาเขต (เก่า) จังหวัดเชียงใหม่ โดยสายเหนือเปิดให้บริการเฉพาะเส้นทางกรุงเทพอภิวัฒน์ -นครลำปาง-กรุงเทพอภิวัฒน์ เพราะสถานีเชียงใหม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะนี้ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ 

ทั้งนี้ผู้โดยสารที่ไม่ประสงค์เดินทางช่วงสถานีนครลำปาง-เชียงใหม่-นครลำปาง สามารถขอคืนค่าโดยสารได้ที่สถานีทุกแห่งทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์โทรศัพท์ 1690 หรือเพซบุก แฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทยตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ คาดการณ์อีก 2 วันจะสามารถเปิดทำการได้ตามปกติ