ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เรื่องแพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ : Digital War Room ว่า จุฬาฯ ได้ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์ม จุฬาฯ ฝ่าพิบัติ : Digital War Room นวัตกรรมทำนายพื้นที่น้ำท่วม และแนวดินถล่มจากอุทกภัย ที่เป็นการ ป้องกันก่อนเกิด หรือ Preventive Action
โดยบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการในการป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น สามารถชี้จุด คาดคะเน และให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ได้อย่างแม่นยำและทันสมัย เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที รวมถึงให้การช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบนวัตกรรมแพลตฟอร์ม จุฬาฯ ดังกล่าว
รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ผู้รักษาการรองอธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่า การดำเนินงานภายใต้แพลตฟอร์มจุฬาฝ่าพิบัติฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
สำหรับนวัตกรรมแพลตฟอร์มสำหรับป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย จุฬาฝ่าพิบัติฯ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการใช้ทำนายพื้นที่น้ำท่วมและแนวดินถล่มจากอุทกภัยได้อย่างแม่นยำ ซึ่งปัจจุบันถูกนำไปเสริมการช่วยเหลือในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ
ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ข้อมูลภูมิประเทศที่ใช้ในการเตือนภัยในแพลตฟอร์มนี้แบ่งออกเป็น ชุดข้อมูลเตือนภัยดินโคลนไหลหลากและน้ำป่า ประกอบด้วย ตำแหน่งรูรั่วของมวลน้ำจากภูเขาสูงที่ราบ
แนวไหลหลากของมวลน้ำ หมู่บ้านที่อ่อนไหวต่อภัยพิบัติดินโคลนไหลหลาก และชุดข้อมูลเตือนภัยน้ำท่วม ประกอบด้วย แนวร่อง แนวเนิน จุดเสี่ยงถนนขาด และจุดแนะนำในการอพยพ
นอกจากนี้ ยังมีแนวน้ำหลากในกรณีที่น้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการวางแผนในกรณีที่คันดินกั้นน้ำแตก ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศไทย โดยมีแผนจะจัดทำชุดข้อมูลเพิ่ม เพื่อสื่อสารและเตือนภัยพิบัติดินถล่ม สึนามิ และแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
แพลตฟอร์มจุฬาฝ่าพิบัติฯ จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับแผนที่จุดเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยและการแจ้งเตือนว่าจะเกิดเหตุ ระบบแผนที่ทางภูมิศาสตร์ในแพลตฟอร์มที่มีรายละเอียดเฉพาะเจาะจงจะเป็นประโยชน์ในการอพยพและการเตือนภัยในรูปแบบต่าง ๆ
อีกทั้งยังมีการสื่อสารถึงคนในพื้นที่ที่สามารถโต้ตอบกันได้โดยตรงเพื่อประสานขอความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย อาสาสมัครจะลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลต่าง ๆ และส่งเข้ามาที่วอร์รูม
แพลตฟอร์มจุฬาฝ่าพิบัติฯ ดังกล่าว เป็นนวัตกรรมที่จะทำให้ประเทศไทยรับมือเหตุการณ์น้ำท่วมในอนาคตได้ ภัยที่มากับฝนตกหนักไม่ได้มีแค่น้ำท่วมสูง แต่ยังมีดินถล่ม ดินโคลนไหลหลาก นวัตกรรมหรือชุดข้อมูลที่จัดทำขึ้นจะทำให้ทราบถึงสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ว่ามีโอกาสได้รับภัยอะไรบ้าง หนักเบาแค่ไหน เมื่อประชาชนรู้ตัวและปฏิบัติตาม รวมทั้งหากภาครัฐมีนโยบายหรือแนวทางการอพยพที่มีประสิทธิผล จะช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้