มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมฉลอง 2 ทศวรรษ สถาบันขงจื่อโลก 2024 “ไทยจีนประสานใจ เส้นทางสายไหมทางทะเล” เสน่ห์แห่งวัฒนธรรมจีน เปิดโชว์เคส 12 ผลงานนักเรียนและนักศึกษา ประชันออกแบบสร้างสรรค์ หัวข้อ “ตามรอยเส้นทางสายไหม” เร่งเตรียมบุคลากรรุ่นใหม่ติดอาวุธ “วัฒนธรรม-ภาษาจีน’ ใบเบิกทางก้าวสู่กำลังสำคัญอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และเทคโนโลยี AI
ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดี สายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล และ บริษัท เถาหลี่ future group จำกัด ร่วมจัดงาน “ไทยจีนประสานใจ ผ่านเส้นทางสายไหมด้วยภาษาจีน” วันสถาบันขงจื่อโลก และเทศกาลวัฒนธรรมจีน 2024 โดยเป็นงานที่จัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานอันลึกซึ้งของวัฒนธรรมไทย-จีน ภายใต้ความสัมพันธ์พี่น้องที่แนบแน่นมั่นคงโดยตลอดมา
ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากขึ้น ระหว่าง “DPU” และ “สถาบันขงจื่อ” เองก็ได้ดำเนินการผ่านกิจกรรมต่าง ๆ มาโดยตลอด
สำหรับการเปิดงานในครั้งนี้ได้มีบุคคลสำคัญที่ร่วมงานเฉลิมฉลองวันสถาบันขงจื่อประจำปี 2024 และงานครบรอบ 20 ปีของสถาบันขงจื่อโลก อาทิ ศาสตราจารย์ หวัง ฮวน เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน, คุณซับ สำคัญ เลขานุการเอก สถานทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประจำราชอาณาจักรไทย, คุณวิละวัด เทบพิทัก ที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษาและวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
คุณฟาง จิ่นเฟิง ประธานกลุ่มบริษัทด้านการศึกษา เถาหลี่เว่ยไหล เซินเจิ้น ประเทศจีน, ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อ, ผู้อำนวยการห้องเรียนขงจื่อ, ผู้แทนจากสื่อมวลชนทั้งจีนและไทย ผู้บริหาร คณาจารย์ นักเรียนและนักศึกษา ได้มาร่วมงาน
พร้อมกันนี้ยังมีกิจกรรมทั้งแบบออนไลน์ (Online) และ ออนไซต์ (Onsite) เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาไทยและนักศึกษาจีน มีการเรียนรู้วัฒนธรรมร่วมกันผ่านกิจกรรม โดยออนไลน์ (Online) จัดไลฟ์สดผ่านทางเฟซบุ๊ก ที่จัดทำไปพร้อมกับกิจกรรมออนไซต์ (Onsite) มีทั้งบูธกิจกรรมและเกมต่าง ๆ เช่น เกมตกปลา เกมพัดลายเคลือบ กิจกรรมยิงธนู กิจกรรมวาดภาพจีน การเรียงอักษรจากแท่นพิมพ์จีนโบราณ และบูธให้ความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน เป็นต้น พร้อมรางวัลให้ร่วมลุ้นรับตลอดการจัดงาน
อีกหนึ่งกิจกรรมภายในงาน คือ การแข่งขันออกแบบสร้างสรรค์ที่ได้รับความสนใจจากนักเรียนนักศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย ส่งผลงานประกวดมากถึง 132 ชิ้น โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากความสอดคล้องกับหัวข้อ ความคิดสร้างสรรค์ ความงดงาม และความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ สุดท้ายตัดสินเป็นผลงานยอดเยี่ยม จำนวน 12 ผลงาน ที่โดดเด่นมีลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมจีนและไทย รวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจอันลึกซึ้งของผู้สร้างสรรค์ต่อเส้นทางสายไหมทางทะเลและความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างยอดเยี่ยม
“วันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาษาจีนเป็นภาษาสำคัญของโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีความต้องการศึกษาทางด้านภาษาจีนค่อนข้างสูง สถาบันขงจื่อเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมสัมพันธ์และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมจีนให้กับนักเรียนนักศึกษาชาวไทยมาโดยตลอด ทั้งจัดส่งครูอาสาสมัครชาวจีนมาสอนยังประเทศไทย มอบทุนการศึกษาระยะสั้นและระยะยาว การจัดกิจกรรมส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมจีน ซึ่งช่วยให้การเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนในประเทศไทยได้รับการเผยแพร่และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น” ผศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าว
สำหรับมุมมองต่อปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ผศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าวว่า ภาคธุรกิจ และ อุตสาหกรรมการผลิตจีนมีขนาดใหญ่มาก และยังมีการขยายความร่วมมือทางธุรกิจไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของเด็กไทยในการเรียนรู้วัฒนธรรมและภาษาจีนอย่างลึกซึ้ง เพื่อก้าวไปเป็นบุคลากรที่สำคัญของธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างมากในอนาคต ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และธุรกิจด้านเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) และการเกษตร
ทั้งนี้ ในปัจจุบันในประเทศไทยมีหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับปริญญาเอก และยังมีโรงเรียนนานาชาติ รวมถึงวิทยาลัยนานาชาติ ที่จัดการเรียนการสอนด้วยภาษาจีน ซึ่งทาง DPU มีหลักสูตรปริญญาตรี ถึง ปริญญาเอก ด้านภาษาจีนโดยเฉพาะ และ อีกทั้งยังมีหลักสูตรที่ใช้ภาษาจีน-ภาษาอังกฤษ ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากจากนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจจีนที่เดินทางมาศึกษาต่อในหลักสูตรสองภาษานี้
“ในฐานะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย รู้สึกประทับใจที่พวกเราชาว DPU ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมจีนในสังคมไทย ร่วมกับสถาบันขงจื่อมาโดยตลอด เพื่อร่วมสร้างบุคลากรด้านภาษาจีนในสังคมไทย ให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการศึกษาไทยในอนาคต ทั้งนี้ ทาง DPU อยู่ระหว่างเตรียมเปิดหลักสูตรระยะสั้นใหม่ๆ โดยจะพัฒนาเป็นหลักสูตรระยะสั้น ที่เน้นพัฒนาความรู้และสร้างคอนเนคชั่นระหว่างนักธุรกิจจีนและไทยได้มาเจอกัน เพื่อทำความรู้จัก ร่วมมือ และต่อยอดธุรกิจ โดยมีทางมหาวิทยาลัยฯ เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยง” ผศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าว