ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พบท. ได้ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง เพื่อเร่งผลักดันการขยายผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ และพัฒนานวัตกรชุมชนต้นแบบ ให้เป็นไปตามเป้าหมายของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2568 ได้กำหนดแนวทางในการผลักดันการทำงานบนฐานงานวิจัย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้ครัวเรือนในชนบทและครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม
โดยตั้งเป้าหมาย 12,000 ครัวเรือนภายใน 2 ปี รายได้สุทธิของครัวเรือนในชนบทต้องเพิ่มขึ้นเป็นครัวเรือนละ 5,000 บาทต่อเดือน หรือ ปีละ 60,000 บาทต่อครัวเรือน
สำหรับการร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง ผ่านลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) การขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate Technology) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดังนี้
ดร.กิตติ กล่าวว่า ความร่วมมือในการขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาพื้นที่กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง จะช่วยกันพัมนาองค์ความรู้ ทรัพยากร และความชำนาญเฉพาะด้านของแต่ละฝ่าย เพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในยุคที่มีการแข่งขันสูง
รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ประธานอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวว่า เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง มีพื้นที่ตั้งวิทยาเขต 24 จังหวัด กระจายตัวในพื้นที่ 4 ภูมิภาค และ พื้นที่บริการครอบคลุม 40 จังหวัด ได้พัฒนาคลังข้อมูลเทคโนโลยีในรูปแบบ Technology and Innovation Library
ล่าสุดมีจำนวนถึง 387 เทคโนโลยี ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ ช่วยแก้ไขปัญหา และสร้างโอกาสแก่ชุมชน พร้อมยกระดับงานบริการเชิงสังคมสู่การเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้แบบครบวงจร เช่น ศูนย์ถ่ายทอดด้านเทคโนโลยี การเป็นโรงงานต้นแบบที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย ระบบการผลิตเชิงอุตสาหกรรมชุมชน เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษาหรือผู้สนใจเข้ามาฝึกงานสู่การยกระดับฝีมือแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม บพท. มีแผนขับเคลื่อนการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566–2570 ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหา ท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งกำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate Technology)
ทั้งนี้ในความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่งจะขยายผลต่อยอดนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมจากงานวิจัย สู่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ให้เกิดการเรียนรู้และรับ-ปรับ-ใช้นวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อมุ่งสร้างโอกาสใหม่ในพื้นที่ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและจัดการแก้ปัญหาคนจน และลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากทั้งภาคชนบทและเมืองให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจในครั้งนี้ มีระยะเวลา 3 ปี เพื่อที่จะร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate Technology) ในการประยุกต์ใช้และขยายผลนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม จากผลงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลฯ ในการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ คนจนฐานราก เกษตรกรรายย่อย กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่ การสร้างพื้นที่การเรียนรู้
รวมทั้งพัฒนากลไกถ่ายทอดและบริการเทคโนโลยีสู่ชุมชน เพื่อเสริมสร้าง Ecosystem ที่พร้อมให้บริการกลุ่มเป้าหมาย และการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ให้เกิดการลงทุนสำหรับนำผลงานวิจัยที่เป็น Appropriate Technology ไปสู่การขยายผลทางธุรกิจและเกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้วย