ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเวทีเสวนาสร้างไทยเข้มแข็งด้วยท้องถิ่นนิยม Localism Future of Thailand ทำให้ทราบถึงปัญหาการกระจุกตัวของเศรษฐกิจไทย โดยพลังทางเศรษฐกิจยังไม่กระจายไปยังท้องถิ่นมากเท่าที่ควร ทำให้เกิดอุปสรรคในการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่าง ๆของประเทศ
ปัจจุบันธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่ กทม.มีสัดส่วนเพียงแค่ 5% ของธุรกิจทั่วประเทศ แต่มีขนาดรวมกันคิดเป็น 95% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่ธุรกิจที่กระจายตัวอยู่ในจังหวัดอื่นๆมีสัดส่วนเป็น 95% ของธุรกิจทั้งหมดแต่สามารถสร้างรายได้เป็นสัดส่วนเพียง 10% ของจีดีพีเท่านั้น
ทั้งนี้ถือเป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องผลักดันการพัฒนาท้องถิ่นให้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์สำคัญอย่างหนึ่งของการพัฒนานวัตกรท้องถิ่น ที่จะต้องมีความรู้ที่จะช่วยยกระดับธุรกิจในท้องถิ่นและชุมชนให้สามารถเพิ่มมูลค่าและแข่งขันได้มากขึ้น
โดยมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องผลักดันให้ธุรกิจชุมชนเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ซึ่งมีหลายระดับตั้งแต่เมือง จังหวัด กลุ่มจังหวัด ระดับประเทศ และในระดับโลกซึ่งหากธุรกิจชุมชนยกระดับธุรกิจเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าเหล่านี้ได้ถือว่าเป็นการยกระดับธุรกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ดร.กิตติ กล่าวว่า การสร้างนวัตกรในชุมชนท้องถิ่น บพท.ให้ความสำคัญกับการปลุกชุมชนโดยการสร้างนวัตกรที่จะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งนวัตกรต้องสามารถใช้ข้อมูลและความรู้ที่ได้จากการวิจัย ที่จะสามารถนำไปสู่การส่งเสริมองค์ความรู้ให้ธุรกิจในชุมชนยกระดับไปสู่การแข่งขันได้มากขึ้น
ทั้งนี้ที่ผ่านมาในปีงบประมาณ 2563 – 2566 บพท.ได้ดำเนินการแผนงานวิจัย “ชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชุมชนนวัตกรรมที่มีความสามารถในการพัฒนา พึ่งตนเองและจัดการตนเอง โดยการสร้างและพัฒนานวัตกรชุมชนมีทักษะ การจัดการความรู้ เรียนรู้ และรับปรับใช้นวัตกรรม สามารถนำความรู้และนวัตกรรมพร้อมใช้ ไปใช้ในการจัดการปัญหาในชุมชน หรือสร้างโอกาส/ศักยภาพใหม่ในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ มาอย่างต่อเนื่อง
ผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมาได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับ สถาบัน/มหาวิทยาลัย/หน่วยงาน จำนวน 27 สถาบัน เกิดชุมชนนวัตกรรม 954 ชุมชน (ตำบล) ในพื้นที่ 44 จังหวัด สร้างนวัตกรชุมชน จำนวน 10,093 คน และเทคโนโลยี และนวัตกรรมพร้อมใช้
รวมทั้งนวัตกรรมกระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญของชุมชนทั้งสิ้น 1,228 นวัตกรรม ที่ใช้ยกระดับอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากและมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้น 10-20% อีกทั้งยังเกิดการนำนวัตกรรมเข้าสู่การทำแผนพัฒนาตำบล/ท้องถิ่น และเกิดการสร้างระบบข้อมูล Technology and Innovation Library ของประเทศอีกด้วย
สำหรับเป้าหมายในระยะต่อไป บพท.จะสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรอย่างต่อเนื่องโดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีนวัตกรอยู่ในทุกตำบลทั่วประเทศ ตำบลละ 5 คน หรือมีนวัตกรเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1 หมื่นคน เป็น 3.5 หมื่นคน เพื่อให้มีบุคลากรที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสามารถที่จะนำเอาความรู้และข้อมูลไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ เพื่อยกระดับธุรกิจชุมชนให้เติบโตต่อไป