หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาคาดการณ์เกี่ยวกับฤดูหนาวของไทย โดยคาดว่าจะเริ่มในวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาชี้แจงแถลงไขว่าเหตุใดวันนี้ยังไม่มีการออกมาประกาศอย่างเป็นทางการ โดยกรมอุตุฯได้เปิดเผยเกี่ยวกับเงื่อนไข เกณฑ์การพิจารณาต่างๆ การทำความเข้าใจ การเตรียมเข้าสู่ฤดูหนาว (Pre-winter) ก่อนที่จะประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
ช่วงวันนี้ (29 ต.ค.67) เป็นวันแรกที่จะเตรียมเข้าสู่ฤดูหนาว โดยมีเงื่อนไขที่ใช้ในการพิจารณาคือ
พื้นที่และการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยตอนบน เริ่มมีฝนลดลงแล้วชัดเจน แล้วและมวลอากาศเย็นเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณภาคเหนือภาคอีสานตอนบนแล้ว แต่กำลังยังไม่แรง ทำให้มีทิศทางลมในระดับล่างที่ไหลเวียนออกจากศูนย์กลางของความกดอากาศสูงเป็นลมตะวันออก ลมตะวันออกเฉียงเหนือ
ส่วนอีกเงื่อนไข คือการลดลงของอุณหภูมิต่ำสุด มีบางพื้นที่อุณหภูมิในพื้นราบเริ่มลดลงแล้วแต่ยังลดลงเฉพาะภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน สำหรับยอดภู ยอดดอย อากาศเริ่มหนาว ซึ่งเป็นสัญญาณการเตรียมเข้าสู่ฤดูหนาว ในระยะนี้ภาคกลาง ตอนล่าง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล ยังมีฝนรบกวนอยู่บ้างเนื่องจากความชื้นสูง
และอีกปัจจัยที่ยังทำให้อุณหภูมิไม่ลดลงมากนักเนื่องจากในทะเลจีนใต้มีหย่อมความกดอากาศต่ำ (สลายตัวจากพายุ"จ่ามี") และพายุไต้ฝุ่น "กองเร็ย(KONG-REY)" ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกก่อกวน เลยทำให้ทิศทางลมยังมีความแปรปรวน
แต่ในช่วงต้นเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.67 เป็นต้นไป จะมีมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคอีสาน จะทำให้มีฝนในระยะแรกๆ (1 พ.ย.67) ทางภาคอีสาน ภาคกลาง กทม. ปริมณฑล และภาคตะวันออก
หลังจากนั้นอากาศภาคอีสานจะเริ่มเย็นลง 2-4 ซ. เช้าวันที่ 2 พ.ย.67 ก่อนภาคอื่นๆ ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง อากาศจะเย็นลง 1-3 องศาเซลเซียส
สำหรับ กทม. และปริมณฑลจะเย็นลง 1-2 องศาเซลเซียส ยอดดอย ยอดภู จะมีอากาศหนาวจัด ความหนาวเย็นจะแผ่ปกคลุมอยู่ถึงวันที่ 7 พ.ย.67 เตรียมตัววางแผนไปสัมผัสอากาศเย็นถึงหนาวได้ และช่วงนี้กรมอุตุนิยมวิทยาจะมีประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ
สำหรับภาคใต้ เมื่อลมหนาวมาเยือน ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.67 ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ลงไปต้องเตรียมรับมือฝนตกหนัก คลื่นลมแรง อาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด