กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ฤดูหนาวปี 2567 โดยระบุว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม 2567 และจะสิ้นสุดฤดูหนาวในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ทั้งนี้มีการคาดการณ์ฤดูหนาวของประเทศไทยในปีนี้ ดังนี้
ประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม - เดือนพฤศจิกายน ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางแห่งในบางวันทางตอนบนของภาค ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกจะมีอากาศเย็นบางแห่ง ทางตอนบนของภาค โดยจะมีฝนเล็กน้อยร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ และอาจลมกระโชกแรงบางแห่งในบางวัน
เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะ ๆ โดยจะมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะพัดปกคลุมประเทศไทย
จากนั้นจนถึงเดือนมกราคม จะมีอากาศหนาวเย็นมากขึ้น โดยบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไปและมีอากาศหนาวจัดบริเวณตอนบนของภาค สำหรับบริเวณยอดดอย ยอดภู รวมทั้งเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้ในบางช่วง ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกจะมีอากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไป ส่วนมากทางตอนบนของภาค
ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทย โดยจะมีกำลังแรงเป็นระยะ ๆ และต่อเนื่อง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมประเทศไทย และมีกำลังแรงเป็นระยะ ๆ
ส่วนในระยะต้นและกลางเดือนกุมภาพันธ์ ลักษณะอากาศจะแปรปรวน โดยอากาศจะเริ่มอุ่นขึ้น และเริ่มมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวัน กับมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ ส่วนบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง
ตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนมกราคม มีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบทั่วไป โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ซึ่งจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่งก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในบางแห่ง
สำหรับคลื่นลมทะเลอ่าวไทยจะมีกำลังแรงเป็นระยะ ๆ ในบางช่วงจะมีคลื่นสูง 2 - 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร เนื่องจากมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ และมีกำลังแรงเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ประกอบกับในบางช่วงจะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้
นอกจากนี้ในบางช่วงมักจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงหรือพายุหมุนเขตร้อน เคลื่อนตัวเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนผ่านภาคใต้ จากนั้นจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ฝนจะลดลง เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง และเริ่มเปลี่ยนเป็นลมตะวันออกหรือลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมแทน