ในหลวง พระราชทานพรปีใหม่ 2566 แก่ปวงชนชาวไทย

31 ธ.ค. 2565 | 14:25 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ธ.ค. 2565 | 21:56 น.

ในหลวง พระราชทานพรปีใหม่ พุทธศักราช 2566 เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ปวงชนชาวไทย  ให้มีความสุขกาย สุขใจ มีสติปัญญาแจ่มใสและเข้มแข็ง ตลอดจนสุขภาพที่แข็งแรง ประสบแต่ความสุข ความเจริญโดยทั่วกัน

เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 31 ธันวาคม 2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชทานพรเนื่องในวาระขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2566 เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ปวงชนชาวไทย ความว่า “เนื่องในวาระขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2566 ข้าพเจ้าขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมาอำนวยพรแก่ทุกๆ ท่าน ให้มีความสุขกาย สุขใจ มีสติปัญญาแจ่มใสและเข้มแข็ง ตลอดจนสุขภาพที่แข็งแรง ประสบแต่ความสุข ความเจริญโดยทั่วกัน

 

ในหลวง พระราชทานพรปีใหม่ 2566 แก่ปวงชนชาวไทย

 

คนไทยเรานั้นมีน้ำใจไมตรีต่อกัน ใส่ใจช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันเสมอมา ไม่ว่าจะมีเรื่องราวเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น เราคนไทยก็ต่างพร้อมจะร่วมมือร่วมใจกันปัดเป่าบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลให้กำลังใจปลอบโยนซึ่งกันและกัน เพื่อให้ความทุกข์ยากนั้นผ่อนคลายและบรรเทาลง การที่เราทั้งหลายสามารถร่วมมือร่วมใจ รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ของโรคระบาด หรือเหตุการณ์ภัยพิบัติใดๆ ที่เกิดขึ้น

เราคนไทยก็สามารถร่วมมือแก้ไขและป้องกันจนสถานการณ์ต่างๆ เหล่านั้น ผ่านพ้นและคลี่คลายไปได้ด้วยดี นั่นเป็นเพราะพื้นฐานจิตใจที่ดีงามของคนไทย ซึ่งมีความเมตตาเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน น้ำใจไมตรีอันทรงคุณค่าที่เราทุกคนมีให้แก่กันนี้ เปรียบเสมือนพลังอันยิ่งใหญ่ที่ผนึกเข้าด้วยกันเป็นกำลังสำคัญให้บ้านเมืองของเรานั้นมั่นคงดำรงอยู่และพัฒนาก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปได้อย่างยั่งยืนถาวรตลอดไป

 

ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านเคารพนับถือ พร้อมด้วยพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จงคุ้มครองรักษาทุกท่านให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัย และมีความสุข ความสำเร็จในสิ่งอันพึงปรารถนาตลอดศกหน้านี้ และตลอดไป”

พร้อมกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานบัตรพระราชทานพรปีใหม่ ประจำปีพุทธศักราช 2566 แก่ปวงชนชาวไทย ด้านหน้าของบัตรพระราชทานพรปีใหม่ มีตราประจำพระราชวงศ์จักรีอยู่กึ่งกลาง ด้านล่างเป็นตราพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. และตราพระนามาภิไธย ส.ท.