ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์และทรงเปิดอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 8

11 มิ.ย. 2566 | 12:10 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2566 | 12:19 น.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์และทรงเปิดอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 8 และศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) ต.ตลาดเหนือ อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต

เมื่อเวลา 17.33 น. วันที่ 11 มิถุนายน 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์และทรงเปิดอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 8 และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ถึงอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 8 เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล

ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์และทรงเปิดอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 8

จากนั้นพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอาคม รุ่งแจ้ง ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายวิชาญ พึ่งประสิทธิ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือที่ระลึกแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์และทรงเปิดอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 8

ต่อจากนั้นนายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา กราบบังคมทูลรายงานและขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และทรงเปิดอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 8 เสร็จแล้ว

เสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑลพิธีวางศิลาฤกษ์ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นอิฐ ทอง นาก เงิน และแผ่นศิลาฤกษ์ แล้วทรงวางลงในหลุม พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์

ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์และทรงเปิดอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 8

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย "อาคารศาลอุทธรณ์ภาค 8" พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก

ต่อจากนั้นพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายธีรศักดิ์ เงยวิจิตร เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการคุณแก่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เฝ้าฯ รับพระราชทานของที่ระลึก ตามลำดับ

ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์และทรงเปิดอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 8

เสร็จแล้ว ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงลงพระปรมาภิไธยและทรงลงพระนามาภิไธยในแผ่นศิลา เสร็จแล้ว เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ แล้วเสด็จฯ ไปยังห้องประทับรับรอง ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก

จากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์และทรงเปิดอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 8 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จัดสร้างขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค พ.ศ. 2532 และได้มีพระราชกฤษฎีกาเปิดทำการเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2542 ตั้งอยู่ ณ อาคารศาลแขวงพระนครใต้ และเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2543 ได้ย้ายที่ทำการไปยังอาคารศาลอุทธรณ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2554 ได้ย้ายที่ตั้งศาลอุทธรณ์ภาค 8 จากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดภูเก็ต และเมื่อ พ.ศ. 2560 สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 8 หลังใหม่ บนที่ดินราชพัสดุ โดยมีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมแบบซิโนโปรตุกีส เป็นอาคารสูง 5 ชั้น ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ

เมื่อ พ.ศ.2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีเขตอำนาจศาลในภาคใต้ตอนบน จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงเสด็จเข้าพลับพลาพิธีทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย สูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นางบุญวันดี วุ่นซิ้ว นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี

ต่อจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กราบบังคมทูลรายงานประวัติความเป็นมาในการก่อสร้างศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) และขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) เสร็จแล้ว

ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์และทรงเปิดอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 8

เสด็จฯ ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม ถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก

จากนั้นพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กราบบังคมทูลเบิกผู้ทำคุณประโยชน์แก่จังหวัดภูเก็ต เฝ้าฯ รับพระราชทานของที่ระลึก ตามลำดับ

ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงลงพระปรมาภิไธยและทรงลงพระนามาภิไธยในแผ่นศิลา เสร็จแล้ว เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ แล้วเสด็จออกจากพลับพลาพิธี ทรงปลูกต้นประดู่ ซึ่งเป็นไม้ประจำจังหวัดภูเก็ต ไว้เป็นที่ระลึก

จากนั้นเสด็จฯ ไปยังห้องประทับรับรอง ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก ต่อจากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จฯ ไปยังท่าอากาศยานภูเก็ต อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เสด็จขึ้นแท่นทรงรับการถวาย ความเคารพจากกองทหารเกียรติยศ แล้วประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร

ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์และทรงเปิดอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 8

อาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) ก่อสร้างขึ้นเพื่อทดแทนอาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังเก่า) ซึ่งใช้งานมาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี มีสภาพคับแคบและไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนโดยจังหวัดภูเก็ตดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) ในพื้นที่ศูนย์ราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแบบจัตุรมุข ขนาดความสูง 5 ชั้น มีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมแบบชิโนยูโรเปียน ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช 2565