ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางฝนพรำตลอดเช้า ตลอดช่วงการเปิดงาน"ครบรอบ 40 ปี 6ตุลา" ที่บริเวณลานประติมากรรมประวัติศาสตร์และหน้าหอประชุมใหญ่ ท่าพระจันทร์ โดยปีนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับเป็นเจ้าภาพร่วมกับกรรมการญาติวีรชน 6 ตุลาและเครือข่าย หลังพิธีการศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อดีตผู้นำนักศึกษาชุดจำเลยคดี 6 ตุลา เป็นตัวแทนกล่าวสุนทรกถา "40 ปีเปลี่ยนผ่านประเทศไทย:40 ปีเปลี่ยน-40 ปีไม่ผ่าน"
[caption id="attachment_105562" align="aligncenter" width="500"]
40ปี6ตุลา[/caption]
.....เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ผ่านไปครบ 40 ปีแล้วนั้น ถึงวันนี้คนที่ร่วมเหตุการณ์ก็ย่างเข้าวัย 60 ปีขึ้นไปกันแล้ว ซึ่งยืนยันว่าจะยังคงจัดงานรำลึกเหตุการณ์นี้กันทุกปี ไม่ว่าจะเป็นช่วงการเมืองปกติหรือไม่ก็ตาม เพราะเหตุการณ์นี้เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ลืมในสังคมไทย ทั้งไม่เรียกร้องให้ต้องมีการชำระประวัติศาสตร์ เพราะผู้คนที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ รวมถึงบรรดาญาติผู้สูญเสีย ล้วนทราบดีว่า เกิดอะไรขึ้น รวมถึงเวลานี้ในยุคโซเชียลมีเดีย ข้อมูลต่าง ๆ เริ่มถูกเปิดเผยออกมามากขึ้น
หลายปีที่ผ่านมาในฐานะที่ต้องสอนในคณะรัฐศาสตร์ เริ่มรู้สึกว่าพัฒนาการทางการเมืองไทยเหมือนรถไฟ 2 รูปแบบ คือ รถไฟเด็กเล่น ที่เดินหน้าไปเรื่อย แต่ที่สุดบนรางที่วิ่งก็นำวนกลับมาที่เดิม หรือรถไฟเหาะในสวนสนุก ที่เมื่อขึ้นถึงจุดสูงสุด หรือพัฒนาประชาธิปไตยถึงขีดสุดแล้ว ในฉับพลันก็ทิ้งดิ่งลงสู่จุดต่ำสุด แล้วไต่ขึ้นไปเพื่อจะตกลงมาอีกครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง หรือไม่กระทั่งรถไฟความเร็วปกติ
โดยย้อนไปตั้งแต่เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ที่นับเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งแรกในสังคมสยาม แต่หลังจากนั้นก็เผชิญสถานการณ์ยุ่งยาก ทั้งสงครามโลกครั้งที่2 (2484-2488) และความแตกแยกในหมู่ผู้นำคณะราษฎร์ ไม่น่าเชื่อว่าระบอบทหารที่ในช่วงสงครามโลกไปยืนกับฝ่ายอักษะ แต่เพียง 3 ปีหลังจากนั้นก็สามารถฟื้นฟูและทำรัฐประหาร ปิดฉากช่วงของประชาธิปไตยและคณะราษฎร์ลงภายใน 15 ปี หรือกรณี 14 ตุลา 2516 ที่เป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยไทยครั้งที่ 2 โดยพลังนักศึกษาประชาชน แต่ก็จบลงหลังจากนั้นเพียง 3 ปี ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
"ในวิชารัฐศาสตร์เราถูกสอนกันว่า รัฐประหาร 1 รัฐบาลทหาร 1 เป็นข้อยกเว้นทางการเมือง แต่เมื่อเริ่มนั่งมองการเมืองไทยอย่างยาวนาน เริ่มรู้สึกว่ารัฐประหารและการมีรัฐบาลทหารนั้น กำลังกลายเป็นกฎ ไม่ใช่ข้อยกเว้น"
พัฒนาการของประชาธิปไตยหรือพัฒนาการการเมืองในสังคมไทย ท้ายที่สุดจบลงด้วยการรัฐประหาร
ศ.ดร.สุรชาติกล่าวต่อว่า วันนี้ผ่านมา 40 ปี เราเริ่มเห็นชัดขึ้น โดย 40 ปีของเหตุการณ์ 16 ตุลา 2519 นั้น ต่างจากครั้งก่อน ๆ หน้า เพราะมีการใช้กำลังขนาดใหญ่จัดการกับผู้เห็นต่าง "เราคุยกันว่าอย่างมากที่สุดก็คงจะถูกปิดล้อมและถูกจับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น เป็นเรื่องที่ไม่เคยอยู่ในจินตนาการหรือจินตภาพเลย เพราะเป็นชุดเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"
โดยชี้ว่าการตัดสินใจใช้ความรุนแรงขนาดใหญ่เข้าจัดการกับความเห็นต่างครั้งนั้น เกิดจากความกลัวของชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกลุ่มอนุรักษนิยม ทั้งตื่นตระหนกกับการล้มลงของ"หมากโดมิโน 3 ตัว"ในอินโดจีน ไล่ตั้งแต่เมษายน 2518 เวียดนามแตก ปลายเดือนเดียวกันพนมเปญแตก ธันวาคม 2518 ลาวแตก และเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง" จนถูกจับตาจากทั่วโลกว่า โดมิโนตัวที่4 จะล้มที่กรุงเทพฯ
ขณะที่ขบวนการนักศึกษาก็เคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นจากการเมืองที่ขยับตัวหลัง 14 ตุลา 2516 โดยเวลานั้นมีการผสมผสานอุดมการณ์ความคิดของนักศึกษา 3 ส่วน คือ 1.กลุ่มนักอุดมคติ 2.กลุ่มเสรีนิยมตามสถานการณ์ขณะนั้น และ3.ไม่ปฏิเสธว่าในช่วงหลังขบวนการนักศึกษาเริ่มเปิดรับชุดความคิดสังคมนิยม แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ทั้งหมด และจากพื้นฐานความคิดเหล่านี้นำพานักศึกษาออกสู่โรงงาน สู่ท้องนา ยิ่งกระพือความกลัวให้เกิดขึ้น จนตัดสินใจใช้ความรุนแรง
เหตุการณ์ 6 ตุลากลายเป็นเรื่องราวที่ลางเรือน เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกปกปิด และเป็นการฆ่าที่ถูกเก็บซุกไว้ในมุมมืด ๆ"
ข้อเตือนใจสำหรับคนรุ่นหลัง ศ.ดร.สุรชาติชี้ว่า การฆ่าที่กลายเป็นการสังหารหมู่ในเช้าวันที่ 6 ตุลา นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองชุดใหญ่ที่สุด
ผลที่ตามมาของการใช้ความรุนแรงคือ การขึ้นสู่อำนาจของเผด็จการพลเรือนขวาจัด ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุด เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด ที่ระดมพลผู้สนับสนุนและแนวร่วมทั้งหลายให้กับการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ และสงครามต่อสู้คอมมิวนิสต์ก็ขยายตัวครั้งใหญ่หลังเหตุการณ์นี้ เมื่อมีลูกหลานคนชั้นกลางตัดสินใจทิ้งปากกาไปจับปืนกับการต่อสู้ในชนบท
การปลุกระดมการใส่ร้ายป้ายสีนำไปสู่การแตกแยกขนานใหญ่ นำไปสู่การสร้างความเป็นข้าศึก แล้วสุดท้ายจบลงด้วยการฆ่า สังคมไทยในปี 2519 โชคดีอย่างเดียวนะครับ ที่สร้างเงื่อนไขความแตกแยกและการปลุกระดมขนาดใหญ่ ไม่นำไปสู่สถานการณ์สงครามกลางเมือง
วันนั้นถ้าสถานการณ์ในปี 2519 ไม่หยุดลง ผมยืนยันกับท่านทั้งหลายได้ โดมิโนตัวที่ 4 จะล้มลงที่กรุงเทพฯ หรือวันนี้ท่านอาจจะไม่คุ้นกับสำนวนการล้มลงของหมากโดมิโน แต่วันนี้ถ้าเปรียบเทียบหากเหตุการณ์ปี 2519 ยังขยายตัวไม่หยุด วันนี้ประเทศไทยอาจจะเปรียบเทียบได้กับประมาณสถานการณ์ในซีเรียหรือลิเบีย
จนในที่สุดจึงตัดสินใจยุติสงครามกับคอมมิวนิสต์ ยุติสงครามกับนักศึกษา โดยทหารกลุ่มหนึ่งเข้ายึดอำนาจเปลี่ยนรัฐบาลเผด็จการพลเรือนขวาจัดออกไป พร้อมกับการปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกฟ้องคดีอยู่
จากบทเรียน 40 ปี 6 ตุลา ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวอีกว่า เมื่อมองต่อถึงอนาคตสังคมไทย ที่เวลานี้มีความแตกแยก ซึ่งเงื่อนไขของชุดความคิดที่แตกแยกไม่ต่างจากอดีต โดยสัญลักษณ์ของการยุติความขัดแย้งในปี 2519 คือ เพลงเดือนเพ็ญ ที่เขียนโดยอัศนี พลจันทร์ จากฐานที่มั่นในเขตป่าเขา ที่กลายเป็นเพลงที่ถูกนำไปร้องกันตั้งแต่ระดับสูงลงมาจนถึงในบาร์-ไนต์คลับ
"ผมไม่มีคำตอบว่ายุคหลัง 2553 จะมีอะไรเป็นสัญลักษณ์การปรองดอง เหมือนเพลงเดือนเพ็ญที่ได้ส่งสัญญาณในคนรุ่นผม"
ก่อนจบศ.ดร.สุรชาติเสนอ 4 ข้อเพื่อสร้างเงื่อนไขการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทย คือ
1. Mexit (Military Exit) เอาทหารออกจากการเมือง ถ้าเอาออกไม่ได้ ก็ไม่ต้องคิดถึงประชาธิปไตย จะพาทหารกลับกรมกองอย่างไร
2. อำนาจนอกระบบต้องปล่อยให้การเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติ คือทำรัฐสภาให้เป็นรัฐสภา ทำศาลให้เป็นศาล และทำรัฐบาลให้เป็นรัฐบาล ทำให้กลไกการเมือง 3 ส่วนอยู่ภายใต้การตรวจสอบและถ่วงดุล ไม่ใช่มุ่งตรวจจับและทำลายดุล
3. พัฒนาการทางการเมืองต้องใช้เวลา ต้องผ่านรอยเลือดและคราบน้ำตา ทำอย่างไรให้สังคมไทยและคนมีอำนาจอดทนกับการเมืองในระบบ ยุติความหวาดกลัวทางการเมือง และความพ่ายแพ้มิใช่วัตถุประสงค์ของการทำลายระบบการเมืองทิ้ง
4. ฝากถึงคนรุ่นหลังการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องมียุทธศาสตร์ มิใช่มีเพียงแค่ความฝันและความหวัง พร้อมไปกับการเป็นนักบริหารเพื่อให้การเมืองเดินไปได้ หากไปไม่ได้ก็จะสร้างปัญหาและไม่สามารถแก้ความขัดแย้งทางการเมืองได้
ก่อนจบศ.ดร.สุรชาติทิ้งท้ายว่า ขบวนการประชาธิปไตยไทยต้องคุยกัน วันนี้อาจเห็นไม่ตรงกัน แต่ที่ต้องเห็นร่วมกันอย่างหนึ่งคือ ต้องเห็นอนาคตสังคมไทยร่วมกัน ต้องร่วมกันนำพาสังคมไทยก้าวข้ามความขัดแย้งเหมือน 6 ตุลา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,199 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559