เปิดอาณาจักรแสนล้านเจ้าสัววิชัย แนวโน้มยังรวยได้อีก “อัยยวัฒน์” ประกาศบุก 3 ธุรกิจหลักดันรายได้ พร้อมประมูลดิวตี้ฟรีรอบใหม่ขยายสาขาไทย-เทศ ชูไทยแอร์เอเชียเสริมแกร่ง เดินหน้าลงทุนอังกฤษ “ฟุตบอล-โปโล-อสังหาฯ” รวยไต่อันดับโลก
“ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมทรัพย์สินทั้งในและต่างประเทศ อนาคตทิศทางการดำเนินธุรกิจในมือเจ้าสัววิชัย ที่ไม่เพียงทำธุรกิจดิวตี้ฟรี โรงแรมพูลแมนซอยรางนํ้า ธุรกิจสายการบินไทยแอร์เอเชีย สโมสรเลสเตอร์ซิตี้ สนามโปโล Billingbear พร้อมลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษ โดยนายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์และรองประธานสโมสรเลสเตอร์ซิตี้ ลูกชายนายวิชัย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ช่วงมีนาคมที่ผ่านมา ว่า ปีนี้จะเน้นการซินเนอร์ยี 3 ธุรกิจให้เข้มข้น ได้แก่ เครือคิงเพาเวอร์ กรุ๊ป สโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้และไทยแอร์เอเชีย
นายอัยยวัฒน์คาดว่า หากรวมรายได้ 3 ธุรกิจได้ตามแผนจะผลักดันรายได้ปีนี้ 1.15 แสนล้านบาท แบ่งเป็นดิวตี้ฟรี 9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 20% จากปี 2559 ที่มียอดขายที่ 7.5 หมื่นล้านบาท จากร้านค้าดิวตี้ฟรีในประเทศ 9 สาขา แยกเป็นดิวตี้ฟรีในเมือง 4 สาขา คือ คิงเพาเวอร์ รางนํ้า, คิงเพาเวอร์ พัทยา, คิงเพาเวอร์ ศรีวารี, คิงเพาเวอร์ ภูเก็ต และดิวตี้ฟรีใน 5 สนามบิน คือ ดอนเมือง,สุวรรณภูมิ, เชียงใหม่,หาดใหญ่ และภูเก็ต
คิงเพาเวอร์ยังพร้อมจะยื่นเสนอตัวเข้าประมูลรวมทั้งสนามบินอู่ตะเภา ที่แม้จะมีพื้นที่ไม่มาก แต่ดิวตี้ฟรีเป็นธุรกิจหลัก ต้องขยายไปทุกจุดที่มีโอกาส ส่วนดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่จะหมดสัญญาปี2563 ถ้าบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ประกาศประกวดราคา บริษัทก็พร้อมที่จะยื่น
“ผมมองว่าการเปิดประมูลเป็นเวทีของคนที่อยากเข้ามาทำธุรกิจดิวตี้ฟรี เข้ามาแข่งขันกัน ที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้ตลอด ถ้าผมแพ้ก็คงไม่ออกมาโวยวาย แต่ถ้าประมูลครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น เราชนะก็เชื่อว่าก็ต้องมีคนออกมาโวยวายหาว่าเราผูกขาด ทั้งๆ ที่สิ่งที่เราได้สัมปทานมาก็เกิดจากการชนะการแข่งกันประกวดราคา” นายอัยยวัฒน์ระบุ
ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงโรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางนํ้า ,โรงละคร และปิดปรับปรุงคิงเพาเวอร์ รางนํ้า ปรับโฉมครั้งใหญ่ ภายใต้งบลงทุนราว 2,500 ล้านบาท ที่จะเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส4 ปีนี้ จะมีการขยายดิวตี้ฟรี สาขาใหม่เพิ่มขึ้น ในประเทศก็มองทำเลดิวตี้ฟรี ดาวน์ทาวน์ ที่เชียงใหม่ และต่างประเทศ มองไว้ที่ฟิลิปปินส์ จะเป็นดิวตี้ฟรีในเมือง ส่วนเมียนมา อยู่ระหว่างรอความชัดเจนเรื่องกฎหมาย
ส่วนรายได้ธุรกิจการบินที่ครอบครัวถือหุ้น 39% อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ไทยแอร์เอเชียเป็นช่องทางที่ช่วยต่อยอดการขายสินค้า ขณะนี้กำลังติดตั้งสื่อโฆษณาในตัวเครื่องบินกว่า 40 ลําภายในสิ้นปี ขณะที่รายได้จากต่างประเทศมาจากเลสเตอร์ซิตี้ 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนแบ่งรายได้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ ลีก การขายเสื้อและสินค้าที่ระลึกเพิ่มขึ้น 40-50% และถ้าเลสเตอร์ ซิตี้ ยังอยู่ในพรีเมียร์ลีก ได้อีก 2 ปี ก็จะทำกำไรได้
“เรามีแผนขยายที่นั่งในสนามคิงเพาเวอร์ สเตเดียม อีก 1 หมื่นที่นั่ง หรือจาก 3.2 หมื่น เป็น 4.2 หมื่นที่นั่ง และได้ไปซื้อที่ดินรอบข้างสนามฟุตบอลอีกราว 6 เอเคอร์ เพื่อขยายธุรกิจอื่นๆ ในเมืองเลสเตอร์ อาจจะเป็นโรงแรม”
นอกจากซื้อสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ เจ้าสัววิชัยเคยให้สัมภาษณ์ นิตยสารแพรว ฉบับ ทีี 841 เดือนมกราคม 2015 ว่า ในอังกฤษเขาได้ซื้อสนามโปโล Billingbear เนื้อที่ 666 ไร่ ทำให้มีสนามโปโล 3 แห่ง ยังสร้างความฮือฮาด้วยการซื้อเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว Gulfstream รุ่นใหม่ของอเมริกา ชื่อรุ่น G650 เทคโนโลยีทันสมัยที่สุด ห้องโดยสารจะปล่อยออกซิเจนออกมาทุกๆ 2 นาที ทำให้อากาศเหมือนอยู่บนภาคพื้นดิน ยอมจ่าย 10 ล้านปอนด์ เพื่อลัดคิวรับเครื่องบินก่อน
ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า 6 บริษัทในเครือ ประกอบด้วย
1. บริษัทคิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (บจก.) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากงบการเงินปี 2558 (ปี 2559 ยังไม่ส่งงบ) มีผลกำไรสุทธิ 1,302 ล้านบาท
2. บจก.คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จดทะเบียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2539 ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ มีผลกำไรสุทธิในปี 2558 จำนวน 2,984 ล้านบาท
3. บจก.คิงเพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จดทะเบียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2533 ทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าทั่วไปและปลอดภาษี มีผลกำไรสุทธิในปี 2558 จำนวน 313 ล้านบาท
4. บจก.คิงเพาเวอร์ โฮเทล เมเนจเมนท์ จดทะเบียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2547 ทุนจดทะเบียน 1,200 ล้านบาท กำไรสุทธิในปี 2558 จำนวน 79 ล้านบาท 5.บจก.คิงเพาเวอร์ มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ เมเนจเมนท์ จดทะเบียนเมื่อ 29 มกราคม 2541 ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท กำไรสุทธิปี 2558 จำนวน 53 ล้านบาท และ 6.บจก. คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป(ประเทศไทย) จดทะเบียนเมื่อ 11 กันยายน 2540 ทุนจดทะเบียน 4.5 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีแม้คิงเพาเวอร์จะขยายอาณาจักรอย่างไม่หยุดยั้งแต่ถูกตั้งคำถามสำคัญจากกมธ.ศึกษาเสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริต สปท.ในด้านการได้มาซึ่งสัญญาสัมปทานร้านค้าปลอดอากรในสนามบินในช่วงเริ่มต้นธุรกิจก่อนขยายธุรกิจมาจนถึงขณะนี้
ชง 49 ชื่อเอี่ยวคิงเพาเวอร์
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รองประธานอนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยผลการตรวจสอบกรณีคิงเพาเวอร์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมของสปท. เพื่อพิจารณากรณีศึกษาเรื่อง การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและส่งเสริมให้เกิดคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรให้แพร่หลายมากขึ้น ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ เตรียมสรุป 49 รายชื่อบุคคล และ 2 รายชื่อบริษัทที่เกี่ยวข้องกับประเด็นของคิงเพาเวอร์ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปโดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.เข้าร่วมประชุมเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อทั้งหมด รวมถึงสรุปฐานความผิดของแต่ละคน คาดว่าจะนำเสนอให้กับนายกรัฐมนตรีได้ภายในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้
สำหรับรายชื่อบุคคลทั้ง 49 รายนั้น ส่วนใหญ่อยู่ใน “คณะกรรมการ” ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติสัญญาที่มิชอบด้วยพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 และกรณีไปต่อสัญญาหลังจากทางคิงเพาเวอร์ขอถอนฟ้องต่อศาลแล้วและมีผลต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ส่วนรายชื่อของบริษัทอีก 2 แห่งนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นการจัดทำเอกสารซึ่งเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนของสัญญา