วันที่ 19 พ.ค.60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า "การสะท้อนภาพรวม จากมุมมองของต่างประเทศ ในการทำงานของรัฐบาลและ คสช. ช่วง 3 ปี ที่ผ่านมานั้น นอกจากเราจะได้รับรู้ รับทราบ มาเป็นระยะๆ จากสถาบันต่างๆ ในหลากหลายมิติ “ส่วนใหญ่” ที่ทิศทางที่ดีขึ้นแล้วนะครับ ล่าสุดมีรายงานผลการจัดอันดับ “ประเทศที่ดีที่สุดในโลก” ประจำปี 2017 ของ U.S.News สหรัฐอเมริกา ที่ชี้ว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลก (Best Countries to Start a Business) เป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 2 ปี
ทั้งนี้ ประเทศไทยเรา ยังได้รับการจัดอับดับเป็น “Top 10” ในอีกหลายด้าน เช่น ด้านการท่องเที่ยว, ด้านการเจริญเติบโตโดยภาพ และด้านวัฒนธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังยกให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่โดดเด่นในเรื่องการเปิดโอกาสทางธุรกิจและการเริ่มต้นงานใหม่ รวมทั้ง เป็นประเทศที่เหมาะสำหรับใช้ชีวิตยามเกษียณและมีคุณภาพชีวิตดี อีกด้วยนะครับ
ดังนั้นด้วยข้อมูลการจัดอันดับต่างๆ ที่ผ่านมาและล่าสุด ผมจึงไม่อยากที่จะกล่าวอะไรมากนัก เรื่องผลงาน มี หรือไม่มีนะครับ เพราะผลงาน ไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีอะไรใหม่อย่างเดียว แต่ก็อยากให้ดูด้วยว่า เราจะต้องแก้ไขปัญหาประเทศอะไรบ้างที่สะสมมานาน อาทิเช่น การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ต้องทยอยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง, การปรับโครงสร้าง การบูรณาการ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมร่วม และการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อไปสู่จุดหมายอันเดียวกันนะครับ
แล้วจะต้องมีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกาทำงานของเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และวิธีบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งการจัดทำโครงสร้างใหม่ๆ เพื่อจะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง พร้อมมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่หลายคนอาจจะยังยึดติดอยู่ และยังไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่ให้เงินช่วยเหลือมากๆ นะครับ คำพูดเหล่านั้น เป็นเพียงวาทะกรรม ที่หวังผลทางการเมืองในอนาคต มากกว่านะครับ
สิ่งที่ผมอยากเน้นย้ำอีกครั้ง ก็คือการแก้ปัญหาด้วยการให้เงินสนับสนุน เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น ซึ่งจำเป็นก็ยังทำอยู่นะครับ แต่ทำให้ถูกต้อง แต่การลงทุนเพื่ออนาคต โดยการให้ความรู้ เพิ่มเทคโนโลยี เปิดโอกาสและช่องทาง เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชน “ทุกกลุ่มอาชีพ” รวมทั้ง เราจะต้องสร้างกลไกเพื่อสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากให้มากยิ่งขึ้น เหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาระยะยาวและยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลนี้ ให้ความสำคัญกว่านะครับ แต่เราก็ไม่ลืมนะครับ ผู้มีรายได้น้อยเราจะทำยังไงนะครับ ก็ต้องหาวิธีการทำให้ได้เร็วที่สุดนะครับ
จะเห็นได้ว่า ด้วยความพยายามของรัฐบาลและ คสช. ในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง ให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น เพื่อจะไปสู่วิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ก็ นับว่าเป็นการเลือกทำในสิ่งที่ยาก ถ้าเราทำง่ายๆ ก็ไม่ทำแบบนี้นะครับ แต่ก็เป็นทางออกที่ดีกว่าที่ผ่านๆ มา อาทิเช่น ปัญหาการค้ามนุษย์, IUU, ICAO, การบุกรุกป่า, การจัดสรรที่ดินทำกิน, การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างบูรณาการ, การปราบปรามยาเสพติด,
การป้องกันการทุจริต, การสนับสนุนค้าขาย การส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เป็นต้น ซึ่งอาจจะทำให้ดูเหมือนว่า เรายังไม่ได้ทำอะไรเลยนะครับ ไม่เหมือนมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ที่ทันใจเพราะสัมผัสได้ ทำได้ง่าย และมีผลทางการเมืองโดยตรงนะครับ ผมก็ขอฝากฝ่ายการเมืองต่างๆ ไว้ด้วยนะครับ ขอให้ทบทวน ช่วยกันพิจารณาดูให้ดีนะครับ ว่าความจริงแล้วสังคมไทย เราต้องการการแก้ปัญหาแบบไหนนะครับ จึงจะนำพาประเทศหลุดพ้นกับดักต่างๆ ได้อย่างแท้จริง ก็ต้องไปทั้งสองอย่างด้วยกันนะครับ
ตัวอย่างนโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหาประเทศ “ที่ยั่งยืน” ได้แก่ การทำผังเมืองรวมจังหวัด “ทั่วประเทศ” แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการนะครับ ปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น ให้เสร็จโดยเร็ว สำหรับเป็นแผนแม่บท ที่ผ่านมามีความพยายามดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้วนะครับ แต่ก็มีคืบหน้าในทางให้เกิดผลสัมฤทธิ์น้อยมากนะครับ ก็เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แต่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ จากการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันนะครับ ต้องมีการปรับวิธีการ ปรับรูปแบบ ด้วยการให้ความรู้นะครับ แล้วก็ให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุดนะครับ จะได้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้มากยิ่งขึ้น ในช่วง 3 ปี ของรัฐบาลนี้ เราได้มีการทำของเดิมที่ค้างอยู่นะครับ ให้สำเร็จได้ในที่สุด แต่ยังคงให้มีการปรับปรุงต่อไป
วันนี้ได้มีการประกาศบังคับใช้ “เต็มพื้นที่” เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 นี้นะครับ แต่สิ่งสำคัญหลังจากนี้ คือ การบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ และความร่วมมือกัน ทั้งข้าราชการ เอกชน และพี่น้องประชาชน ที่จะต้องไม่ละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผังเมืองรวมอีก ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกป่า การใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ หรือการก่อสร้างใดๆ ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ขวางเส้นทางไหลของน้ำตามธรรมชาติ เป็นต้น
สำหรับปัญหาด้านเศรษฐกิจ ก่อนที่ คสช. เข้ามานั้น ประชาชนอาจจะไม่ได้รับการดูแลในทุกมิติ อย่างครบวงจร และไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็นของระดับนโยบาย ในการกำกับดูแล หรือขาดการเอาใจใส่ สนับสนุนในการช่วยแก้ปัญหาให้กับระดับปฏิบัติการ และขาดแผนปฏิบัติการ ในระยะปานกลางและระยะยาว
ยิ่งกว่านั้น มีการสร้าง “ความต้องการเทียม” เพื่อให้เกิดการลงทุนในประเทศจนอาจจะ “อิ่มตัว” ที่เกินความต้องการ เกินความเป็นจริง ไม่ส่งเสริมขีดความสามารถในการผลิต หรือไม่มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มากนักนะครับ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ตั้งแต่ต้นทางการผลิต ในภาคเกษตรกรรมเอง ก็มีนโยบายบางอย่างที่ทำให้เกษตรกร อาจมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องค่อยๆ แก้กันไปนะครับ อันนี้เป็นปัญหาเดิมๆ อยู่ แต่เราจะต้องมีการปรับรูปแบบ ในการใช้พื้นที่ ในเรื่องการเพาะปลูก ในเรื่องการทำเกษตรกรรม ทุกประเภทนะครับ
เช่น เราจะต้องไม่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว หันมาทำไร่นาสวนผสม, ลดการทำนาปรัง แล้วมาปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น หรือการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่นะครับ ไม่ว่าจะเป็นหน้าฝน หน้าแล้ง เหล่านี้เป็นต้นนะครับ ซึ่งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ของกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง 882 ศูนย์ รวมทั้งเครือข่ายย่อยอีก 8,000 แห่งนะครับ ซึ่งต่อไปก็จะเป็นนับหมื่นกลุ่มนะครับ ก็กำลังขับเคลื่อนและให้คำแนะนำ ช่วยเหลืออยู่ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตนะครับ
นอกจากนี้ ที่ผ่านมานั้นเราอาจจะไม่มีการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศนะครับ ไม่ได้มีการเสริมสร้างความรู้เท่าที่ควร ไม่ได้มีการส่งเสริมการรวมกลุ่ม ไม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะ “ลืมตาอ้าปาก หรือยืนบนขาของตนเองได้” ก็อาจจะช่วยตัวเองไม่ได้เสียทีนะครับ หนี้สินรุงรัง ก็เลยต้องรอแต่ความช่วยเหลืออย่างเดียวนะครับ ก็คาดหวังไปเรื่อยๆ นะครับ
เราต้องสร้างธุรกิจใหม่ เราต้องส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ ภาครัฐต้องส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี วิทยาการสมัยใหม่ เร่งสร้างนวัตกรรมใหม่นะครับ ที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ ตอบสนองความต้องการของสังคม และการดำรงชีวิตของคนไทย โดยพึ่งพาองค์ความรู้ต่างๆ จากภายนอก เราอาจจะต้องพึ่งในระยะแรกๆนะครับ จนทำให้เกิดนวัตกรรมที่เกิดขึ้นโดยคนไทย ผลิตเอง คิดเองนะครับ เพื่อคนไทย ใช้เองก่อน แล้วขยายผลไปสู่การส่งออกนวัตกรรม อื่นๆ นะครับ ไปยังตลาดที่มีความต้องการใกล้เคียงกัน
โดยเราต้องไม่ลืมการสร้างเครือข่าย การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ อย่างครบวงจร ตั้งแต่ “ต้นทาง” แหล่งผลิต ภาคเกษตรกรรม “กลางทาง” ภาคอุตสาหกรรม การแปรรูป การสร้างผลิตภัณฑ์ การสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม และไปสู่ปลายทาง คือการหาตลาด และการจับคู่ทางเศรษฐกิจ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งก็จะเป็นการกระจายรายได้ โดยเชื่อมโยงจากชุมชน ชนบท จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ EEC CLMVT อาเซียน ประชาคมโลก ได้ในที่สุด
ทั้งนี้ปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ส่วนหนึ่งคือ แหล่งน้ำและพลังงานไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลนี้ ได้คำนึงถึง และพยายามสร้างความร่วมมือรูปแบบใหม่ๆ กับประเทศเพื่อนบ้านและพันธมิตร เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ “สตึงมนัม” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย และ กัมพูชา โดยการสร้างเขื่อนกั้นน้ำ แทนการปล่อยน้ำทิ้งเพื่อผลักดันน้ำเค็ม ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ซึ่งก็จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 24 ถึง 50 เมกกะวัตต์ สามารถผันน้ำมาใช้ได้ 300 ถึง 500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งจะสามารถรองรับการพัฒนาต่างๆ ใน EEC ของเรา และสร้างความมั่นคงทางพลังงานและน้ำ ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ ได้ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งน่าจะสำเร็จได้ ประมาณปลายปี 2566 นะครับ"