“นายกฯ-ประวิตร” ยืนยัน ยังไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม อ้างบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย ด้าน พรรคการเมืองร้อง คสช. เร่งปลดล็อก ชี้! เวลาเหลือน้อย ติดเงื่อนไขตามกฎหมายที่เขียนง่ายแต่ปฏิบัติยาก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศชัดเจนว่า ยังไม่มีแนวคิดปลดล็อกให้กับพรรคการเมือง เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในช่วงนี้ แม้กลุ่มการเมืองจะออกมาทวงสัญญาก็ตาม
“เรื่องนี้อย่าห่วงกังวล คสช. เป็นผู้กำกับดูแลและควบคุม ผมในฐานะเป็นหัวหน้า คสช. ได้ให้หลักการว่า บ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อย ปลอดภัย ไม่เกิดความวุ่นวาย สับสน เพราะการเมือง ขณะเดียวกัน ต้องดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องการเลือกตั้งต้องรอ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องมีการคัดสรรมา จึงจะกำหนดร่างระเบียบกติกาออกมาได้ และประกาศพื้นที่ได้ ก็นำไปสู่ระยะเวลาการประกาศวันเลือกตั้ง ทั้งหมดมีส่วนประกอบมาก ไม่ใช่ประกาศปลดล็อกแล้วก็โครมคราม ในขณะที่อย่างอื่นยังไม่พร้อม มันก็จะวุ่นไปหมด เวลานี้บ้านเมืองก็สงบดีอยู่ การจะนำไปสู่การเลือกตั้งต้องไปโดยสงบ เมื่อเลือกตั้งแล้วก็ต้องสงบ ได้รัฐบาลที่ดี
“ส่วนเรื่องสมัครสมาชิกพรรค ผมหาทางให้จนได้ จะปลดล็อกกันอย่างไร ก็อย่าถามผมบ่อยนักแล้วกัน ทำให้คิดไม่ออก ก็เลยช้า ถ้าถามมากก็คิดไม่ค่อยออก ให้ผมคิดสรุปออกมาก่อน แล้วผมจะเปิดเผยออกมาทีเดียวจบ ทันเวลาอยู่แล้ว” นายกรัฐมนตรี ระบุ
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม ย้ำว่า ยังไม่พิจารณาปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความสงบเรียบร้อย หรือ มีความเห็นไปในทางเดียวกัน ขณะนี้ยังพบว่า มีการแสดงความคิดเห็นในลักษณะต่าง ๆ ทั้งการโจมตี บิดเบือน แต่ยืนยันว่า จะพิจารณาให้ดำเนินการได้ทันตามกรอบ 180 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากต้องรอเวลาที่เหมาะสม
ด้าน ท่าทีจากพรรคการเมือง นายนิกร จำนอง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมือง ว่า ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา เคยทำเรื่องนี้มาก่อน เมื่อศึกษากฎหมายและบทเฉพาะกาลแล้ว ดูเหมือนมีเวลาที่จะทำได้ แต่พอเอาเข้าจริง กลับมีเงื่อนไขบังคับก่อนและบังคับหลัง ซึ่งหมายความว่า ก่อนที่จะทำสิ่งนั้นได้ ต้องทำสิ่งหนึ่งก่อน มันต่อเนื่องกัน จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งก่อนไม่ได้ ขณะที่ เวลากระชั้นมาก ดูผิวเผินเหมือนมีเวลานาน แต่ตอนนี้เวลามันหายไปเกือบเดือนแล้ว จากเวลาที่มีอยู่ 180 วัน ยกตัวอย่าง การไปจดแจ้งเรื่องจำนวนสมาชิกพรรค ดูเหมือนจะง่าย แต่พอเอาเข้าจริง ทางพรรคที่มีสมาชิกมาก ๆ ไม่มีโอกาสรู้เลยว่า สมาชิกพรรคที่มีอยู่ขณะนี้จริง ๆ มีจำนวนเท่าใด เพราะสมาชิกไม่จำเป็นต้องแจ้งทางพรรค เพราะพรรคไม่ใช่นายทะเบียน
ปัญหาใหญ่ประการที่ 2 พรรคต้องแจ้งจำนวนสมาชิกให้ตรงกับนายทะเบียน แต่ในทางปฏิบัติ ขณะนี้ไม่รู้ว่า สมาชิกพรรคย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ใดบ้าง เพราะเขายังไม่แจ้ง เมื่อไม่แจ้ง ก็มีผลกับเขตเลือกตั้ง เพราะการมีสมาชิกกฎหมายบังคับให้สัมพันธ์กับเขตเลือกตั้ง ซึ่งทางพรรคชาติไทยพัฒนาได้ทำหนังสือไปยัง กกต. ให้ประสานกับกระทรวงมหาดไทย ปรากฏว่า กระทรวงมหาดไทยบอกว่า ไม่ใช่หน้าที่ มันจะยุ่งยากมากขึ้นอีก
นายนิกร กล่าวอีกว่า การที่จะกำหนดให้มีการเลือกตั้งได้ ก็ต้องมีการทำไพรมารีโหวตก่อน ต้องมีสาขาพรรคเข้ามาร่วม ซึ่งในกฎหมายเรียกว่า หัวหน้าสาขา แต่ในกฎหมายเดิมเป็นประธานสาขา ต้องมาประชุมเพื่อเปลี่ยนตรงนี้อีก เพื่อให้ถูกกฎหมาย และการเรียกประชุมต้องมีหัวหน้าสาขา ผู้แทนประจำจังหวัด หรือ ประจำเขตเลือกตั้ง ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มี สมมมติว่า จะประชุมเรื่องผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตอนนี้ก็ประชุมไม่ได้ เพราะไม่ครบองค์ประชุม การมีเงื่อนไขบังคับก่อน การประชุมเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง แต่ละเรื่องมันต่อเนื่องกันมา ที่บอกว่า ให้ประชุมภายใน 180 วัน และต้องมีการแก้ไขข้อบังคับพรรค พอประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคเสร็จแล้ว ส่งไปให้ กกต. พิจารณา ถ้า กกต. พิจารณาไม่เสร็จ ก็ดำเนินการอะไรไม่ได้
“ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติ ผมเป็นผู้อำนวยการพรรค ผมทำเรื่องนี้มา 15 ปี ผมรู้ว่า มันยุ่งยากมาก ผู้ออกกฎหมายไม่เคยทำเรื่องนี้ กกต. เองก็รู้ จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาในรายละเอียดจริง ๆ เราจะมาคิดว่า เวลาเหลืออีกเยอะนั้น ไม่ใช่ จึงร้องขอให้ช่วยพิจารณาด้วย ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหามาก”
[caption id="attachment_227583" align="aligncenter" width="500"]
นายชวลิตร วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.)[/caption]
นายชวลิตร วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้มุมมองว่า ที่ผ่านมา ทุกพรรคการเมืองให้ความเห็นในเรื่องขอให้รัฐบาลปลดล็อกข้อห้ามให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมไว้เยอะแล้ว คิดว่า รัฐบาลคงรับฟัง โดยส่วนตัวไม่คิดไปกดดันอะไร เพราะเป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ถ้าไม่รีบทำ ก็ไม่ทัน จึงคิดว่า รัฐบาลพยายามหาทางออกอยู่แล้ว
“อยู่ที่รัฐบาลและ คสช. จะมองเรื่องนี้อย่างไร แต่ใจผมยังเชื่อ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นนักกฎหมาย ส่วนท่าทีของ พล.อ.ประวิตร ก็ย่อมห่วงเรื่องความมั่นคง เพราะเนื่องจากดูแลด้านความมั่นคง ทางออกทั้ง 2 คน ก็คงไปคุยกับนายกรัฐมนตรีว่า จะเสนออย่างไร คิดว่า ในเดือน พ.ย. นี้ ถ้ามีความชัดเจนมากขึ้น ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ขณะนี้มีแต่การลงทุนด้วยวาจา และตัวเลข ไปเช็กบีโอไอจริง ๆ ไม่ค่อยมีการลงทุนนัก เพราะขาดการเชื่อมั่น”
“ขณะนี้นักการเมืองทำอะไรไม่ได้เลย มีทางทหารไปนั่งคุยที่บ้านอดีต ส.ส. ทุกเขตเลือกตั้ง เหมือนสอบถามสารทุกข์สุกดิบ แต่จริง ๆ ไปติดตามว่า อดีต ส.ส. ทำอะไรบ้าง มากน้อยเพียงใด” นายชวลิตร กล่าว
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2-4 พ.ย. 2560 หน้า 16