ทางออก นอกตำรา | พิษ "เงินปากถุง" แบงก์กรุงไทย ลาก 'ทักษิณ' ยัน 'ลูกโอ๊ค' ลงเหว

14 ต.ค. 2561 | 11:10 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2561 | 18:10 น.
 

141061-1745

[caption id="attachment_332996" align="aligncenter" width="503"] โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร[/caption]

ข่าวคราวเรื่อง "โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร" อายุ 38 ปี บุตรชายคนโตของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดนฟ้องที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงิน จากกรณีร่วมรับโอนเงินเป็นเช็ค 10 ล้านบาท เข้าบัญชี เพราะเข้าไปรับเงินก้อนโตจากการที่ธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ 10,400 ล้านบาท ให้กับกลุ่ม บริษัท กฤษดามหานครฯ, บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นแนล จำกัด, บริษัท โกลเด้นท์ เทคโนโลยีฯ ที่ปัจจุบันมีผู้บริหารเอกชน คณะกรรมการผู้บริหาร พนักงานธนาคารกรุงไทย ถูกศาลตัดสินจำคุกไปจำนวนมาก

สังคมคงสับสนกับเรื่องนี้ … เพราะในสาระข่าวสารที่ออกไปนั้น เสมือนว่า นายพานทองแท้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ถูกกระทำจากเกมการเมืองอย่างหนักหน่วง และเงินเพียงแค่ 10 ล้านบาท ไม่น่าทำให้ "พานทองแท้" ทายาทมหาเศรษฐีตระกูลชินวัตร ที่มีเงิน 64,000 ล้านบาท ต้องร่วมขบวนการฉ้อโกง ยักยอก ฟอกเงินเป็นแน่แท้

ยิ่งเห็น "เอม-พินทองทา คุณากรวงศ์" น้องสาวนายพานทองแท้ โพสต์ภาพและข้อความให้กำลังใจพี่ชาย ระบุว่า "วันนี้แล้วสินะ ครอบครัวเราผ่านอะไรกันมาเยอะ ถูกการเมืองเล่นมาเยอะ แต่ก็คิดมาเสมอว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ จนกระทั่งมาเป็นเรื่องพี่โอ๊ค มาถึงรุ่นพวกเราแล้วเหรอเนี่ย! แต่ในเมื่อจะทำกันขนาดนี้ เราก็คงจะไม่นั่งนิ่งเฉยให้ถูกรังแก ผู้ใหญ่ท่านที่ปรึกษาทุกท่านและทีมงานกฎหมายที่ร่วมกันคิดและหารืออย่างสุดความสามารถ จนสุดท้ายได้ข้อสรุปร่วมกันว่า "ถ้าสู้ตามเนื้อกฎหมายยังไงเราก็ชนะ!! แต่เรื่องของธงทางการเมืองความแค้นส่วนตัวของคนบางคน อันนี้อยู่เหนือการควบคุมและคาดเดาจริง ๆ"


100917

"อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร"
ลูกสาวคนเล็ก โพสต์ตัดพ้อว่า "ลูกทักษิณ ไม่เคยได้รับอะไรเหมือนคนอื่นเค้าหรอก 'ลูกทักษิณ' ได้รับอะไร แรงกว่าคนอื่นเสมอ แต่รู้มั้ย เลือดเนื้อของ 'ทักษิณ' ก็วิ่งอยู่ในตัวเราทั้ง 3 คนนั่นแหละ จะเข้มแข็ง ให้สมกับเป็น 'ลูกทักษิณ' ขอบคุณทุกคนสำหรับกำลังใจที่ส่งให้พี่โอ๊ค และครอบครัวเรานะคะ ส่งใจให้เราเยอะ ๆ นะ ขอเลยวันนี้ #เข้มแข็งให้ได้เหมือนพ่อกับแม่ #10 ล้านเยอะฟุด ๆ ๆ"


100916
S__45285442


"โอ๊ค พานทองแท้" โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว มีคำบรรยายภาพว่า "กำลังใจเต็มร้อย" พร้อมข้อความว่า ... เอาคดีปักมันไว้ มันจะได้ไม่อยู่ให้รำคาญใจ ช่วงเลือกตั้ง..!! คือ เสียงคำรามครั้งสุดท้าย ก่อนที่อัยการจะเรียกตัวผมไปฟังคำสั่งคดี ครับ 555555 ฝันไปเถอะครับลุงฉุน..!!

พรุ่งนี้ผมจะไปพบพนักงานอัยการด้วยตัวเองครับ ที่ผ่านมาผมรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดำเนินคดีนี้เลย ทั้งจากดีเอสไอ ปปง. และสุดท้ายที่อัยการ ดูเหมือนทุกหน่วยงานดำเนินคดีกับผม แตกต่างจากบุคคลอื่นอีกกว่า 100 ราย ที่ทำธุรกรรมการเงินในลักษณะเดียวกันและกับเงินก้อนเดียวกันนี้ โดยสิ้นเชิง

ถ้าผมไม่อยู่สู้คดีอย่างที่มนุษย์ลุงคาดหวังไว้ ผมรู้ว่าต่อไปผมคงต้องเจอคำถามยอดฮิตเหน็บแนมไล่หลังมาว่า "ไม่ได้ทำผิดแล้วกลัวอะไร" แต่วันนี้ผมอยู่ ผมจึงตอบแทนได้ว่า คนที่เขาอยู่ตรงข้ามเผด็จการ เขาไม่ได้กลัวในสิ่งที่เขากระทำ เพราะมันไม่ผิด แต่เขากลัวการใช้อำนาจรัฐ อย่างไม่เป็นธรรมต่างหาก

"เผด็จการเบ็ดเสร็จที่ทำผิดได้ โดยที่ตัวเองไม่ต้องกลัวความผิดอะไรเลย" คือ สิ่งที่เลวร้าย และน่ากลัวที่สุดในสังคมไทยทุกวันนี้ครับ


S__45285451

เห็นข้อมูลแค่นี้ เห็นเรื่องแค่นี้อาจสับสนอลหม่าน นี่การเมืองเรื่องกลั่นแกล้งหรือเรื่องจริงในการฉ้อโกง ... ผมจึงอยากให้

ผู้อ่านติดตามเรื่องนี้อย่างมีสติ

ในฐานะที่เป็นคนทำข่าวเรื่องนี้มากับมือ ผมขอบอกว่า การเดินหน้าหาความจริงว่า นายพานทองแท้ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ชินวัตร นายวันชัย หงษ์เหิน สามีนางกาญจนภา และนายมานพ ทิวารี บิดาของ น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเกี่ยวพันกับการรับเงินปากถุงจากการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย นั้นยากเย็นแสนเข็ญ

มีการเปลี่ยนตัวอธิบดีดีเอสไอมาหลายคน ไล่จาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง-นายธาริต เพ็งดิษฐ์-พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์-

นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ก็ไม่คืบหน้า จนข้อหารับของโจรหมดอายุความ 10 ปี เพราะพบว่ามีการกระทำความผิดเมื่อปี 2547 แต่ในคดีฟอกเงินนั้นยังไม่หมดอายุความ เนื่องจากคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) รับคดีมาตั้งแต่ปี 2550 เฉพาะข้อหาฟอกเงิน

ทำไม โอ๊ค-พานทองแท้ จึงโดนคดีฟอกเงิน … ทั้ง ๆ ที่ ยืนกรานว่า เช็ค 10 ล้านบาท สั่งจ่ายให้นายพานทองแท้ ได้มาตั้งแต่ปี 2547 ก่อนมีการตรวจสอบการขออนุมัติสินเชื่อ และนายพานทองแท้ก็ไม่ทราบว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาจากการกระทำความผิด และไม่มีเจตนาซุกซ่อนอำพรางทรัพย์สิน ไม่ทราบว่าทรัพย์ดังกล่าวได้มาจากการกระทำความผิด


S__45285443

ผมขอพาไปดูการพิจารณาจากคำตัดสินของ นายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา และเจ้าของสำนวน 1 ใน 9 องค์คณะผู้พิพากษาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ตัดสินคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานคร โดยทุจริต ให้ความเห็นและวินิจฉัยเรื่องเส้นทางการเงินในคดีนี้เอาไว้ ดังนี้

"… เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 นายธีรโชติ พรมคุณ พนักงานของจำเลยที่ 20 (บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)) ได้ซื้อแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาท โดยหักจากบัญชีของจำเลยที่ 25 (นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร) สั่งจ่ายนายพานทองแท้ ชินวัตร และนำเข้าบัญชีของนายพานทองแท้ ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 184-0-47447-0 แต่ในวันเดียวกันมีการยกเลิกรายการ

ครั้นวันรุ่งขึ้นนายธีรโชติ ซื้อแคชเชียร์เช็ค 26 ล้านบาท สั่งจ่ายบริษัท หลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) เพื่อชำระค่าหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ นางเกศินี จิปิภพ มารดาของนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขาฯส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ต่อมานางเกศินีได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 1.8 ล้านบาท เข้าบัญชีของนายพานทองแท้ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน

อย่างไรก็ดี นายพานทองแท้ ชี้แจงเป็นหนังสือต่อ คตส. ว่า จำเลยที่ 26 (นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรนายวิชัย กฤษดาธานนท์) ฝากนายวันชัย หงษ์เหิน (สามีนางกาญจนาภา หงษ์เหิน) ซื้อหุ้นบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ผ่านบัญชีของ นางเกศินี ครบกำหนดชำระหุ้นเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2546

ซึ่งก่อนครบกำหนดชำระค่าหุ้น เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 26 โทรศัพท์มาแจ้งว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่นำแคชเชียร์เช็คค่าหุ้น 26 ล้านบาท เข้าบัญชีของตนเพื่อฝากโอนให้บริษัท หลักทรัพย์ธนชาตฯ ตนเกรงว่าอาจล่าช้าชำระไม่ทันกำหนด จึงแนะนำให้จำเลยที่ 26 ชำระเงินให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ธนชาตฯ โดยตรง จำเลยที่ 26 จึงยกเลิกธุรกรรมที่นำแคชเชียร์เช็คฝากเข้าบัญชีของตน

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ทางปฏิบัติในการซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์นั้น ผู้จะซื้อขายหลักทรัพย์จะต้องเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ และจะต้องแจ้งเลขที่บัญชีธนาคารให้บริษัทหลักทรัพย์ทราบ เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์โอนเงินเข้าบัญชีเมื่อมีการสั่งขายหลักทรัพย์ หรือให้บริษัทหลักทรัพย์หักเงินจากบัญชีเมื่อมีการสั่งซื้อหลักทรัพย์

ข้อเท็จจริงได้ความว่า ทั้งนายพานทองแท้ และจำเลยที่ 26 มีความสนิทสนมกัน ต่างก็มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองหากจำเลยที่ 26 ได้ฝากนายวันชัย ซื้อหุ้นตามที่อ้าง จำเลยที่ 26 ย่อมสามารถโอนเงินค่าหุ้นเข้าบัญชีธนาคารของ นายวันชัย หรือโอนเข้าบัญชีธนาคารของบริษัทหลักทรัพย์ได้โดยตรงอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 26 ต้องนำเงินไปซื้อแคชเชียร์เช็คฝากเข้าบัญชีธนาคารของนายพานทองแท้ เพื่อฝากชำระค่าหุ้นให้นายวันชัย อีกทอดหนึ่ง"

ข้ออ้างของนายพานทองแท้ จึงฟังไม่ขึ้น … นี่คือ บันทึกการพิจารณาคดีของศาล ...

นี่คือ สารตั้งต้นของการฟ้องในคดีฟอกเงินที่เป็น "บ่วงกรรม" ของคนในตระกูลชินวัตร จากพ่อทักษิณ มาถึงรุ่นลูก ...


 

[caption id="attachment_333002" align="aligncenter" width="408"] ©IG/oak_ptt ©IG/oak_ptt[/caption]

……………….
คอลัมน์ : ทางออก นอกตำรา โดย บากบั่น บุญเลิศ ([email protected])

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,409 วันที่ 14 - 17 ต.ค. 2561 หน้า 06

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คดี 'โอ๊ค' ฟอกเงิน กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์
วีรบุรุษ "โอ๊ค" ทำไมพัวพันคดีฟอกเงิน - รับของโจร


เพิ่มเพื่อน
บาร์ไลน์ฐาน