ในทางกฎหมายถือว่า “คดีทุจริตจำนำข้าวแบบรัฐต่อรัฐ” สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกานักการเมือง) อ่านคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ตัดสินเพิ่มโทษจำคุก นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อีก 6 ปี จาก 7 กระทง รวม 42 ปี เพิ่มอีก 1 กระทง รวมเป็น 48 ปี เนื่องจากอัยการสูงสุด (อสส.) ในฐานะโจทก์ได้ยื่นขอเพิ่มโทษกรณีการทำสัญญาซื้อขายข้าวเพิ่มอีก 1 กระทง
ทั้งยังได้พิพากษาเพิ่มโทษทางอาญากับกลุ่มบริษัทโรงสี ประกอบด้วย 1.ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร 2.บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด 3.บริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด ปรับ 25,000 บาท และ 4.บริษัท เจียเม้ง จำกัด พิพากษาปรับรายละ 25,000 บาท และพิพากษาจำคุก นายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการโรงสีกิจทวียโสธร จำคุก 8 ปี ปรับ 50,000 บาท นายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการบริษัท ชัยมงคลรุ่งเรืองการเกษตร จำกัด จำคุก 4 ปี ปรับ 25,000 บาท และนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัท เจียเม้ง จำกัด จำคุก 4 ปี ปรับ 25,000 บาท โดยรอลงอาญาไว้คนละ 3 ปี
ในรายการ NEWSROOM ห้องข่าวเศรษฐกิจ ช่วง “ลึก แต่ไม่ลับ กับ บากบั่น บุญเลิศ” ออกอากาศทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 ตอน พิษบ่วงกรรม “จำนำข้าว” จำคุก “บุญทรง” ปิดประตู “ยิ่งลักษณ์” กลับประเทศ ตอน ยักษ์ใหญ่เจียเม้ง-โรงสีขี้โกง ได้วิเคราะห์บทเรียนสำคัญจากคดีนี้ว่า ได้สร้างความสั่นสะเทือน ไม่เฉพาะตัวนักการเมืองผู้คุมนโยบายรัฐ กลุ่มข้าราชการประจำผู้ขับเคลื่อนนโยบายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกับธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้องและส่งผลในเชิงการเมืองนับจากนี้ไป
“คำพิพากษาของศาลฎีกาครั้งนี้ เท่ากับเป็นการตอนยักษ์ใหญ่ในวงการค้าข้าวและดับชีพโรงสีที่เข้าร่วมขบวนการครั้งนี้ด้วย ซึ่งกลุ่มโรงสีเหล่านี้บางส่วนไปรับซื้อข้าวจาก องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ของรัฐบาล จะถูกขึ้นบัญชีดำโดยปริยาย จะไปซื้อข้าวจากหน่วยงานรัฐไม่ได้อีกต่อไป แม้ว่าจะยังซื้อข้าวจากชาวนาและขายกับเอกชนได้ แต่จะตั้งคำถามกับกลุ่มโรงสีกลุ่มนี้เกี่ยวกับมลทินที่เกิดขึ้น ถามว่าโรงสีเหล่านี้ยังจะทำธุรกิจต่อไปได้อีกหรือไม่” นายบากบั่น ตั้งข้อสังเกตและว่า
ในทางการเมืองผลจากคำตัดสินของศาลในครั้งนี้ เท่ากับปิดประตูไม่ให้ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีกลับประเทศอีกด้วย จากคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ “คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ” ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมี คำสั่งไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีทุกรายแล้ว
รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมทั้ง “3 พี่น้องตระกูลชินวัตร” คือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และตามกฎหมายใหม่ของป.ป.ช. จะไม่นับอายุความของคดีกรณีผู้ ถูกกล่าวหา หรือ จำเลยหลบหนีคดี ในขณะที่หากจะอุทธรณ์ในคดีแรกซึ่งถูกกล่าวหาฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่นั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ โดยต้องมาด้วยตัวเอง ไม่สามารถมอบอำนาจให้ทนายความทำได้
ทั้งนี้ สำหรับคดีจำนำข้าวล็อต 2 มีรายงานจาก ป.ป.ช.จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินในคดีนี้ พบว่าเป็นการทำสัญญาขายข้าวจีทูจีกับรัฐวิสาหกิจจีน 4 แห่ง ซึ่งไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนโดยออกเป็นเช็คสั่งจ่ายค่าข้าวจำนวน 46 ฉบับ มูลค่า 1,878 ล้านบาท ในจำนวนนี้พบว่า ตัวเลขเช็คสั่งจ่ายหลายฉบับมีวงเงินตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนบาทเท่านั้น
“มีรายงานว่า ผลการสอบของคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ จะเสร็จสิ้นภายใน 1-2 เดือนนี้ เชื่อว่าบ่วงกรรมจำนำข้าวรอบนี้ ว่ากันว่าจะหนักหน่วงกว่ารอบที่แล้ว ถ้าคุณบุญทรง โดนพิพากษาไป 48 ปี แล้วผู้ที่เกี่ยวข้องจะโดนพิพากษาเท่าไร สิ่งหนึ่งที่เราเห็นจากกรณีจำนำข้าวรอบแรกเราเห็นได้เลยว่า ป.ป.ช.ระบุชัดว่า นี่คือ ความผิดพลาด เป็นความเสียหาย และเป็นการร่วมกันทุจริตทางนโยบายครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย”
จากความเสียหายที่เกิดขึ้นป.ป.ช.ได้ทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลลงวันที่ 17 กันยายน 2561 เรื่อง มาตรการป้องกันการทุจริตกรณีการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐจากโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยเข้าสู่ที่ประชุมครม.เมื่อเดือนมกราคม 2562 มีข้อเสนอแนะด้านนโยบายกับรัฐบาลรวม 3 ประการ
1. รัฐบาลต้องมีนโยบายชัดเจนในการช่วยเหลือเกษตกรโดยสามารถช่วยเหลือสินค้าเกษตรให้มีราคาสูงขึ้นโดยใช้กลไกของการเพิ่มตลาดและลดต้นทุนการผลิต 2. การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐให้คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวภายใต้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวดำเนินการเท่าที่จำเป็นโดยคำนึงถึงต้นทุนและผลประโยชน์ของนโยบายโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาระทางการคลัง 3. คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวควรกำหนดนโยบายและเป้าหมายการบริหารจัดการเรื่องข้าวในแต่ละปีอย่างเหมาะสม
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาสัญญาก่อนลงนามในสัญญาระบายข้าวนั้น เสนอให้กรมการค้าต่างประเทศจัดทำสัญญาตามมาตรฐานเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศแบบจีทูจี โดยคำนึงถึงการตรวจสอบคู่สัญญาเกี่ยวกับสถานะการเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลาง หรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้ดำเนินการแทนรัฐบาลกลางเท่านั้น
สำหรับวิธีการส่งมอบข้าวไม่ควรส่งมอบข้าวแบบหน้าคลังสินค้า และควรกำหนดวิธีการควบคุมเพื่อให้มีการส่งออกไปต่างประเทศจริง และควรชำระค่าข้าวผ่านทางธนาคารโดยวิธี Letter of Credit (L/C) โดยมีราคาข้าวแบบมิตรภาพหรือราคาที่ตํ่ากว่าราคาตลาด
“บ่วงกรรมจำนำข้าวรอบ 2 นี้จึงไม่ได้จำเพาะเจาะจงอยู่แค่คุณบุญทรง ข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ โรงสีข้าว และเจ้าพ่อค้าข้าวรายใหญ่อย่างสยามอินดิก้าฯ เท่านั้น แต่กำลังลาก “ใคร” หลายคนที่เกี่ยวพัน โดยเฉพาะพี่น้องในตระกูลชินวัตร ให้ต้องเผชิญชะตากรรมจากโครง การที่ได้ดำเนินการนี้ด้วย”
หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3504 วันที่ 12-14 กันยายน 2562