มหายุทธศาสตร์ของอินเดีย ญี่ปุ่น และรัสเซีย

06 มี.ค. 2563 | 08:42 น.

ศาสตราจารย์พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา รองอธิการบดี ม รังสิต

ศาสตราจารย์พิเศษ  เอนก  เหล่าธรรมทัศน์

 

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ช่วงที่ทั้งประเทศตื่นเต้นกับข่าวไวรัสและแฟลชม็อบ สถาบันคลังปัญญาฯซึ่งติดตามยุทธศาสตร์ของชาติมาร่วมเก้าปี จัดเสวนา: ยุทธศาสตร์ของ อินเดีย ญี่ปุ่น และรัสเซีย โดยมีอาจารย์รุ่นใหม่เก่งๆ ที่จบการศึกษาจากสามประเทศนั้น มาบรรยายนำ มีเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่ระดับกลางในอดีต-ปัจจุบันร่วมสนทนา และยังมีนายทหารระดับสูงที่เป็นนักวิชาการมาร่วมคิดร่วมถกด้วย

 

ที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ไม่ใช่รายงานการประชุม ถ้าใครต้องการ ติดต่อขอมาได้นะครับ แต่ผมจะสะท้อนอะไรที่ได้ฟัง ได้สนทนาในวันนั้น ที่จะเสนอในที่นี้  เป็นความคิดผมเป็นหลัก คงจะมีทั้งที่เหมือน และที่ต่างไปจากท่านอื่นๆ 

 

โลกทุกวันนี้ มีหลายขั้วอำนาจ โดยมีสหรัฐเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ซึ่งทั้งร่วมมือ ทั้งแข่งขัน และ ขับเคี่ยว ชิงดีชิงเด่นกับจีน มหาอำนาจอันดับ 2 ไปพร้อมๆ กัน โดยจีน มหาอำนาจใหม่นั้นรุกประชิดสหรัฐเข้าไปทุกที แต่โลกขณะนี้ยังมี ญี่ปุ่น และยุโรป เป็นมหาอำนาจที่สำคัญรองลงมาจากจีน แต่ทั้งญี่ปุ่นและยุโรปนั้นล้วนเป็นพันธมิตรใกล้ชิดสหรัฐ  และก็ยังมีรัสเซีย เป็นอีกมหาอำนาจหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีกำลังทางเศรษฐกิจและมีจำนวนประชากรที่ไม่เพียงพอนัก แต่กำลังทหารนั้นไม่ได้ห่างจากสหรัฐเลย ในระยะหลังมานี้รัสเซียถูกสหรัฐและยุโรปบีบให้อยู่ใกล้จีน อยู่ข้างจีน  

 

มหายุทธศาสตร์ของอินเดีย ญี่ปุ่น และรัสเซีย

 

ล่าสุด อินเดีย ก็ขยับเป็นมหาอำนาจใหม่อีกชาติหนึ่ง มีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นที่ห้าของโลก และมีแรงงานที่ยังเป็นหนุ่มสาวเยอะ ย่อมจะเติบโตสูงได้อีกนาน และขนาดของประชากรก็ใหญ่ เท่ากับจีนไปแล้ว ในระยะหลังนี้ อินเดีย ที่เคยเป็นกลาง ถูกสหรัฐและญี่ปุ่นพยายามดึงเข้าไปร่วมกันทัดทานจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาสมุทรอินเดียและในมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่ในเอเชีย ตามแนวคิดที่จะพยายามสร้างมหาสมุทรอินโด-แปซิฟิกที่เสรี ขึ้นมาถ่วงดุล หรือมาคานอำนาจกับจีนที่ถูกมองว่ากำลังรุกทะเลหรือแผ่เข้าไปสู่มหาสมุทรแถบนี้ ด้วย “ยุทธศาสตร์” ที่เรียกว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” 

 

แม้ไทยจะถูกชักชวนหรือกดดันให้เลือกฝ่าย แต่อาเซียนและไทยก็คงไม่อาจคล้อยตามได้มากนัก แม้จะยินดี เต็มใจร่วมมือกับสหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย แต่ก็คงจะไม่เขยิบห่างจากจีนมากนัก เพราะผลประโยชน์จากจีนในทางเศรษฐกิจนั้นสูงกว่ามาก อันที่จริง ประเทศอาเซียนทั้งหมดล้วนดีใจ ล้วนเชื้อเชิญ และเปิดให้สหรัฐ และฝ่ายญี่ปุ่น-อินเดีย-ตะวันตก ทั้งหมดมาค้าขาย ลงทุน ร่วมมือ มากขึ้น ไม่มีใครหรอกที่ปล่อยให้จีนผูกขาดหรือครอบงำความสัมพันธ์ต่างประเทศไว้หมด ปัญหาที่จริง คือ สหรัฐ และพรรคพวก ไม่มาเอง หรือ อ่อนกำลังลงในทางเศรษฐกิจจนไม่ค่อยเข้ามาสู่เอเชียอาคเนย์เอง

 

แม้สหรัฐและญี่ปุ่นจะมองว่าจีนและรัสเซียพยายาม “รื้อปรับ” ระเบียบโลก-ทางการเมืองและเศรษฐกิจ-แต่จริงๆ แล้ว จีนพอใจในระเบียบโลกนี้ ไทยและอาเซียนเชื่อว่าจีนนั้นน่าจะพอใจที่เป็นมหาอำนาจอันดับสองไปอีกนาน จีนไม่ปรารถนาจะไปแทนที่สหรัฐ  การเป็นหมายเลขหนึ่งของโลกแบบที่สหรัฐเป็นนั้น ไม่ใช่ “ความฝัน” ของจีน ในทางกลับกันสหรัฐและบรรดาพันธมิตรทั้งหลายก็ไม่พร้อมที่จะขัดแย้งรุนแรงหรือเข้าทำสงครามกับจีน 

 

พูดง่ายๆ ตราบใดที่จีนทำให้เห็นว่าพอใจที่จะเป็นมหาอำนาจหมายเลขสองไปอีกนาน แสดงให้ประจักษ์ว่าจีนนั้นไม่กระตือรือล้นที่จะเป็นหมายเลขหนึ่ง และ ถ้าจีนจะเป็น ก็เป็นไปตามธรรมชาติ ขณะเดียวกัน ก็แสดงให้เห็นว่ายินดีทำงานอย่างเสมอภาคเป็นมิตรกับมหาอำนาจหลากหลายขั้วได้ โลกเราก็จะหลีกเลี่ยงสงครามใหญ่ได้ เช่นนี้แล้วการบีบคั้นให้ไทยและอาเซียนเลือกฝ่ายใดฝ่ายเดียวคงทำได้ยาก 

 

ที่จริง แม้ขณะนี้ สหรัฐและตะวันตก จะเพ่งเล็งเอาอาเซียนโดยเฉพาะเอาไทยเป็นสันปันน้ำ แยกเขตอิทธิพลสหรัฐ-ตะวันตก และ เขตจีน-รัสเซีย ให้ออกจากกันอย่างชัดเจน แต่การจะทำให้เกิดขึ้นได้จริงนั้นคงจะยากมาก ผมเชื่อว่าไทย-อาเซียนอย่างมาก ก็จะเอนเอียงมาทางสหรัฐให้เห็นบ้าง หรือเอียงมาทางทหารและยุทธศาสตร์ แต่ที่จะให้ไปปิดกั้นจีนในทางเศรษฐกิจ หรือให้สลัดจีนสิ้นเชิงในทางทหารและยุทธศาสตร์ รวมทั้งไม่เปิดให้รัสเซียเข้ามาเลย นั้น คงเป็นไปได้ยาก

 

สรุป เราจะต้องติดตามสถานการณ์โลกต่อไปอย่างใกล้ชิด ไม่เลือกฝ่าย  คบหาทุกฝ่าย ไม่เลือก ไม่ชี้ ง่ายๆ ว่าฝ่ายไหนผิดฝ่ายไหนถูก หรือ เห็นอะไรเป็นสองสี ขาวดำ ชัดเจน เกินไป ตรงข้ามต้องพยายามทำให้ฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันอยู่ได้เข้าใจกันมากขึ้น ประนีประนอมมากขึ้น แบ่งปันผลประโยชน์มากขึ้น และขจัดความแตกต่าง หันมาเป็นมิตรกันให้มากขึ้น