“มท.1”สั่ง ผู้ว่าฯทั่วประเทศ คุมเข้มกักตุนสินค้า

08 เม.ย. 2563 | 10:07 น.

“อนุพงษ์” เป็นประธานการประชุม คกก.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ เน้นป้องกันและปราบปรามการกักตุนสินค้า ประชาชนซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาปกติ

“มท.1”สั่ง ผู้ว่าฯทั่วประเทศ คุมเข้มกักตุนสินค้า

 

วันที่ 8 เม.ย. 63 ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ เปิดการประชุมคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ ตามพระราชบัญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 ครั้งที่ 1/2563 ผ่านระบบ Video Conference 


  
พลเอก อนุพงษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันได้มีการระบาดอย่างรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 อันเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ทำให้บุคคลบางกลุ่มถือโอกาสกักตุนโภคภัณฑ์ที่จำเป็น
ต่อการเฝ้าระวังและควบคุมติดตามการระบาด การป้องกัน และการรักษาโรค ตลอดจน การกักตุนเครื่องอุปโภคบริโภค และสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน เพื่อให้โภคภัณฑ์ดังกล่าว ขาดแคลนในท้องตลาด ราคาจะได้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการกระทำที่เอารัดเอาเปรียบและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและสังคม จึงมีความจำเป็นต้องบังคับใช้พระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 อย่างจริงจัง 

 

มท.1 กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชกฤษฏีกากำหนดท้องที่เขตสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2563 ขึ้น เพื่อที่จะกำหนดพื้นที่สำรวจฯ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา แล้วในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2563 มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 ขึ้นใหม่ เพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
  
 

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา

 

สำหรับการประชุมในวันนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาใน 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.ร่างคำสั่งคณะกรรมการฯ เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันและปราบปรามการกักตุนโภคภัณฑ์ต่าง ๆ อันส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน

 

 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะการณ์ที่ประเทศกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ โดยแบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่น ๆ โดยให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่เช่น ผู้ว่ากทม. ปลัดกทม. ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด/รองผู้ว่าราชการจังหวัด ในจังหวัดอื่น ๆ เป็นต้น 

 

2.ร่างประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง กำหนดระยะเวลาทำการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 

 

3.ร่างประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง กำหนดพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ และแบบเอกสารในการดำเนินการตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 และ 4.ร่างประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง กำหนดวิธีการขายโภคภัณฑ์ การยึด และบังคับซื้อโภคภัณฑ์ตามมาตรา 9(4) แห่งพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497
 
 

“มท.1”สั่ง ผู้ว่าฯทั่วประเทศ คุมเข้มกักตุนสินค้า

 

พลเอก อนุพงษ์   กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะนี้ รัฐบาลมุ่งที่จะลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้มาตรการเชิงป้องกันในการดูแลสุขลักษณะ การรณรงค์ Social Distancing และมาตรการสกัดกั้นเช่นการกักตัว (Quarantine) ทุกรูปแบบอย่างเข้มข้น

 

อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องเตรียมการเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างเป็นปกติ สามารถซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาที่เป็นธรรม และต่องไม่มีการกักตุนสินค้า และสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

 

 ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งต้องไปสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ไม่ให้มีการกักตุนสินค้า และถ้ามีการกระทำความผิดจะมีบทลงโทษอย่างไร ทั้งนี้อาจมีกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องก็สามารถนำมาบังคับใช้ได้ทุกฉบับ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และพนักงานเจ้าหน้าที่ใช้มาตรการด้านการข่าวในการสืบหาบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่กักตุนสินค้า และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด