จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 26 พ.ค. 63 เห็นชอบต่อ พรก.ฉุกเฉิน หรือ ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 30 มิถุนายน 2563 เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศ
โดยเบื้องหลังและเหตุผลของครม.ในการต่อพรก.ฉุกเฉิน รอบที่3 3 นี้ "ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี" เปิดเผยว่า ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 มีความเห็นสอดคล้องกันว่าการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 ยังมีความจำเป็น
เนื่องจากจะช่วยสร้างระบบการบริหารจัดการในเชิงบูรณาการที่ดีให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อชะลอ ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด- 19 ช่วยสนับสนุนให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มีความเป็นเอกภาพ รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างมาตรฐานกลางด้านสาธารณสุขและช่วยเยียวยาประชาชนได้อย่างครอบคลุมภาพรวมของประเทศอีกด้วย
ทั้งไทยอยู่ในช่วงการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้กฎหมายสำหรับในระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคในระดับสูง จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบและอยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งส่วนราชการเองจำเป็นต้องมีมาตรการด้านกฎหมายเพื่อกำกับดูแลและบริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด เพราะยังพบการระบาดและผู้ติดเชื้อในระดับสูงในหลายประเทศอย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้เสนอแนะแนวทางดำเนินการควบคู่ไปกับการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในห้วงที่ 2 โดยกำหนดมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้เป็นปกติยิ่งขึ้นและมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมและทั่วถึง โดยให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถชี้แจงประชาชนได้อย่างชัดเจนด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยันต่อ "พรก.ฉุกเฉิน" คุมระบาดโควิด ไม่ใช่เพื่อความมั่นคงของ "บิ๊กตู่"
"แรมโบ้ "ยืนยัน การต่อพรก.ฉุกเฉิน "ไม่เกี่ยวการเมือง"
ศบค.ย้ำพรก.ฉุกเฉินจำเป็นต้องบูรณาการก.ม.ป้องโควิด
ดร.นฤมล กล่าวด้วยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการพิจารณาขยายเวลาการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือนจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ว่าเป็นไปตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งได้มีการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้าน และเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพ รองรับการผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งหลังจากผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 3 แล้ว จะต้องส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น
ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการด้านการท่องเที่ยวเน้นเรื่องความปลอดภัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ในส่วนของการจัดการประชุมสัมมนานั้น ขอให้เตรียมมาตรการรองรับอย่างเข้มงวด ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด พร้อมกับเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะจัดซื้อจัดจ้าง เน้นซื้อสินค้าภายในประเทศ 30% รวมถึงซื้อจาก SMEs ที่ขึ้นทะเบียนของชุมชน เพื่อสร้างวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็ง