"สุพจน์ ทรัพย์ล้อม"  มีชื่อโผล่นั่งอนุกก.นิคมราชทัณฑ์

15 มิ.ย. 2563 | 10:39 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2563 | 08:09 น.

"สุพจน์ ทรัพย์ล้อม" อดีตปลัดคมนาคม มีชื่อโผล่ร่วมอนุกรรมการฯศึกษาแนวทางตั้ง"นิคมราชทัณฑ์" หลังพ้นโทษ ด้านรมว.ยธ. ยันเดินหน้าสร้างอาชีพ หวังป้อนนักโทษชั้นดีกว่า 6.7 หมื่นคน เข้าสู่ตลาดแรงงาน

15 มิถุนายน 2563 ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.)  กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการกำหนดนวทาง ออกแบบโครงสร้าง และการบริหารจัดการเรือนจำอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม เพื่อแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง หรือ "นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ " นั้นว่า ตนได้ทาบทามภาคเอกชน นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิหลายฝ่าย และอดีตข้าราชชั้นผู้ใหญ่มาให้แนวคิดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม มีทั้งนายโฆสิต สุวินิจ นายธนวรรธน์ พลวิชัย นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ฯลฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อคณะอนุกรรมการฯ กำหนดแนวทางออกแบบโครงสร้างและการบริหารจัดการเรือนจำอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรมเพื่อการแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังที่นายสมศักดิ์ มีคำสั่งแต่งตั้งนั้น นอกจากบุคคลดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังปรากฏรายชื่อ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งพ้นโทษออกจากเรือนจำเมื่อกลางปี 2562 ที่ผ่านมา หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเหน่งทางเมืองมีคำพิพากษาจำคุก นายสุพจน์ เป็นเวลา 10 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ในคดีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ

นายสมศักดิ์ เบื้องต้นที่ประชุมฯมีมติตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษารูปแบบและแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งก่อนหน้าที่จ.นราธิวาส มีโครงการบ้านกึ่งวิถีหรือกาลาตาแปดูแลผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษได้ฝึกอาชีพทั้งด้านการปศสัตว์ เกษตรและการท่องเที่ยว จึงเห็นหากกรมราชทัณฑ์มีโครงการดังกล่าวขึ้นทุกภูมิภาคก็จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดี หรือนักโทษที่ชั้นเยี่ยม-ชั้นดีที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ซึ่งทั่วประเทศมีกลุ่มแรงงานนักโทษจำนวน 6.7 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า ในช่วงแรกนิคมอุตสาหกรรมจะสามรถรองรับนักโทษหรือผู้ต้องขังได้เพียง 2,000-3,000 คน

“จากสถิติพบว่า ผู้ต้องขัง 100 คน เมื่อพ้นโทษออกไปในระยะเวลา 3 ปี จะกลับมากระทำผิดซ้ำ 35 คน เราจึงเห็นว่า หากผู้ต้องขังเหล่านี้พ้นโทษออกมาแล้วจะได้อาชีพ และยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและการ เกษตรอีกด้วย”รมว.ยุติธรรม กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ย้อนรอยคดียึดทรัพย์"อดีตปลัดคมนาคม"ส่งคืนแผ่นดิน

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการศึกษารูปแบบนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์อาจะมีการเช่าใช้พื้นที่ราชพัสดุ หรือการจัดซื้อที่ดินว่างเปล่า เพื่อสร้างนิคมฯคาดว่าจะใช้เวลาอีก 3 เดือนในพิจารณาความเป็นไปได้ว่าจะเริ่มดำเนินการได้หรือไม่และในช่วงใด ซึ่งจะจ้างให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ศึกษาด้านแนวทางการบริหารจัดการ และหารือกับภาคเอกชนว่าจะรองรับแรงงานผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้วได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่ความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแรงงานหลายประเภท ทั้งแรงงานที่มีทักษะ มีฝืมือ และแรงงานทั่วไป ทั้งนี้นิคมอุตสาหกรรมที่จะจัดตั้งจะพิจารณาจากความต้องการใช้แรงงานในแต่ละประเภท