จากกรณีที่ วันที่ 22 ก.ค. 63 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ มีมติ ต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พรก.ฉุกเฉิน อีก 1 เดือน โดยจะไปสิ้นสุด 31 สิงหาคม 2563
ซึ่งเงื่อนไขในการต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน ต่างจากทุกครั้งของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ซึ่ง “พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ระบุชัดเจนว่า “เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสบายใจยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาเราพยายามใช้มาตรา 9 ของ พรก.ฉุกเฉิน ค่อนข้างเบาที่สุดแล้ว ถึงวันนี้เราไม่ได้มีการห้ามการออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิว วันนี้สิ่งที่เราจะไม่ห้ามต่อไปคือเราจะไม่ใช้มาตรา 9 ของ พรก.ฉุกเฉิน มาห้ามการชุมนุม เพื่อแสดงให้เห็นว่า พรก.ฉุกเฉิน ที่ต่อในเดือนสิงหาคมนี้ มีเจตนาเพื่อใช้ในการควบคุมโรคโดยบริสุทธิ์ใจเพียงอย่างเดียว การห้ามการชุมนุมจะไม่ปรากฏใน พรก.ฉุกเฉิน ที่ต่ออายุ 1 เดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“พรก.ฉุกเฉิน” ทำไมยังไม่ยกเลิก ฟังเหตุผลจาก “ศบค.” (คลิป)
"วิษณุ" ชี้พรก.ฉุกเฉิน ยังมีความจำเป็น เพื่อควบคุมโควิดทั่วประเทศ
ต่ออายุ “พรก.ฉุกเฉิน” เลขาฯสมช.แจงยิบ จำเป็นต้องใช้ไปอีกระยะหนึ่ง
อัพเดท "พรก.ฉุกเฉิน" "เคอร์ฟิว" "คำสั่ง ศบค." ล่าสุดที่นี่
“แต่การชุมนุมทางการเมืองก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นกฎหมายปกติ ขอยืนยันอีกครั้งว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้าเพื่อต่ออายุ พรก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน โดยไม่มีมาตรการเรื่องการห้ามการชุมนุมเพื่อให้มั่นใจว่าเราใช้ พรก.ฉุกเฉินเพื่อประโยชน์ในการสาธารณสุขอย่างแท้จริง
ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบรายละเอียดของ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548(ฉบับที่ 1) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 มีคำสั่งและข้อห้ามที่สำคัญ ในการประกาศใช้ มีดังนี้
- ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่หรือสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยง ต่อการติดต่อเชื้อโรคโควิด-19
- ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค
- ปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ในการใช้ยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นอากาศ ยาน เรือ รถยนต์ หรือพาหนะอื่นใด หรือในการใช้เส้นทางคมนาคมไม่ว่าทางอากาศ ทางน้ำ หรือทางบก เพื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
- ห้ามกักตุนสินค้า ห้ามผู้ใดกักตุนสินค้าซึ่งเป็นยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าอื่นที่จําเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจําวัน
- ห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
- ห้ามการเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) อันไม่เป็นความจริงและอาจทําให้ ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทําให้เกิดความเข้าใจผิด
- ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ
บทลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพรก.ฉุกเฉิน
- ตามมาตรา 18 แห่งพรก.ฉุกเฉิน จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 7 ปีหรือปรับไม่เกิน140,000หรือทั้งจําทั้งปรับ แล้วแต่กรณี
ดังนั้น เมื่อ ศบค. มีมติยกเลิกมาตรา 9 ที่ว่าด้วยข้อกำหนด “ห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย”
จึงเป็นการกลับไปใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมปกติถ้าหากจะมีการชุมนุมใดใดเกิดขึ้น คือ “พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558” หรือ “พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ” ซึ่งมีสาระสำคัญที่น่าสนใจดังนี้
พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะ ดังต่อไปนี้
1. การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี
2. การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น
3. การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น
4. การชุมนุมภายในสถานศึกษา
5. การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ
6. การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึกและการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ยังระบุว่า การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุมสาธารณะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทำมิได้
การจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่นั้น
การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ ดังต่อไปนี้
- สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ
- ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ
- โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน
- สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ
- สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวกในการชุมนุมเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง
การแจ้งการชุมนุมสาธารณะต้องระบุวัตถุประสงค์ และวัน ระยะเวลา และสถานที่ชุมนุมสาธารณะตามวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดซึ่งต้องเป็นวิธีที่สะดวกแก่ผู้แจ้ง และต้องให้แจ้งผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้ด้วย
ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่
- ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
- ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ
- แจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบถึงหน้าที่ของผู้ชุมนุมและเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
- ให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ
- ไม่ยุยงส่งเสริมหรือชักจูงผู้ชุมนุมเพื่อให้ผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมาย
- ไม่ปราศรัยหรือจัดกิจกรรมในการชุมนุมโดยใช้เครื่องขยายเสียงในระหว่างเวลา 24.00 น. ถึงเวลา 06.00น. ของวันรุ่งขึ้น
- ไม่ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าที่มีขนาดหรือระดับเสียงตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด
ผู้ชุมนุมมีหน้าที่
- ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุมหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร
- ไม่ปิดบังหรืออำพรางตนโดยจงใจมิให้มีการระบุตัวบุคคลได้ถูกต้อง เว้นแต่เป็นการแต่งกายตามปกติประเพณี
- ไม่พาอาวุธ ดอกไม้เพลิง สิ่งเทียมอาวุธปืน หรือสิ่งที่อาจนำมาใช้ได้อย่างอาวุธ เข้าไปในที่ชุมนุมไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีสิ่งนั้นติดตัวหรือไม่
- ไม่บุกรุกหรือทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้ใช้การไม่ได้ตามปกติซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น
- ไม่ทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือเสรีภาพ
- ไม่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้อื่น
- ไม่ขัดขวางหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ และการดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น
- ไม่เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00น. ถึงเวลา 06.00น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
- ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
ในกรณีที่ผู้จัดการชุมนุมมิได้แจ้งว่าจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจะเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมได้ต่อเมื่อได้แจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น และผู้ชุมนุมต้องเลิกการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่ผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งไว้ต่อผู้รับแจ้ง หากผู้จัดการชุมนุมประสงค์จะจัดให้มีการชุมนุมต่อไป ให้แจ้งขอขยายระยะเวลาการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งภายในเวลา 24 ชั่วโมงก่อนสิ้นสุดระยะเวลา
ในกรณีมีการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมฝ่าฝืน ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- กรณีการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่ได้แจ้งไว้ต่อผู้รับแจ้ง ให้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนด
- หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะนั้น ในระหว่างรอคำสั่งศาลให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีอำนาจกระทำการที่จำเป็นตามแผนหรือแนวทางการดูแลการชุมนุมสาธารณะที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอแนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะ
- แผนหรือแนวทางการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ต้องกำหนดให้เจ้าพนักงานหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง ในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้กำลังได้ ให้ใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนเพียงเท่าที่จำเป็น
- การดำเนินการของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรานี้ ไม่ตัดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการชุมนุมสาธารณะนั้นที่จะร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม
เมื่อได้รับคำขอให้มีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะให้ศาลพิจารณาคำขอนั้นเป็นการด่วน ในการพิจารณา หากความปรากฏต่อศาลว่ามีผู้ชุมนุมซึ่งไม่ปฏิบัติตามประกาศของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ให้ศาลมีคำสั่งโดยออกคำบังคับให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด คำสั่งศาลตามวรรคสอง ให้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค คำสั่งศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคให้เป็นที่สุด
ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศคำสั่งศาลตามมาตรานี้ไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ บริเวณที่มีการชุมนุมสาธารณะนั้น และประกาศโดยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปได้รับทราบคำสั่งศาลดังกล่าวด้วย ในกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุมสาธารณะตามคำสั่งศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะรายงานให้ศาลทราบกับประกาศกำหนดให้พื้นที่บริเวณที่มีการชุมนุมสาธารณะนั้นและปริมณฑลของพื้นที่นั้นตามควรแก่กรณีเป็นพื้นที่ควบคุม และประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมภายในระยะเวลาที่กำหนดและห้ามบุคคลใดเข้าไปในพื้นที่ควบคุมโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ และให้รายงานรัฐมนตรีเพื่อทราบ
เมื่อมีการประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่น หรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายให้รับผิดชอบเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์เพื่อให้มีการเลิกการชุมนุมสาธารณะตามคำสั่งศาล ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น รัฐมนตรีอาจมอบหมายให้ผู้อื่นรับผิดชอบเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์เพื่อให้มีการเลิกการชุมนุมสาธารณะได้
บทกำหนดโทษ มีกำหนดโทษ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ไม่เกิน 6 เดือนปรับตั้งแต่ไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไปจนถึงถ้าการกระทำทำให้ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบการสื่อสารหรือโทรคมนาคม ระบบผลิตหรือส่งกระแสไฟฟ้าหรือประปา หรือระบบสาธารณูปโภคอื่นใดใช้การไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร ผู้จัดการชุมนุมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา ราชกิจจานุเบกษา