รัฐบาลตัดสินใจต่ออายุประกาศ พรก.ฉุกเฉิน อีก 1 เดือน ซึ่งจะไปสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่รอบๆ ประเทศไทย และหลายประเทศยังมีทั้งคนป่วยเพิ่มและคนเสียชีวิตทุกวันจำนวนมาก
ผมมีโอกาสพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงใน ศบค. ก็บอกเหตุผลว่าก็เพื่อความสบายใจของฝ่ายที่มองว่า พรก.ฉุกเฉิน อาจจะเป็นอุปสรรคหรืออาจจะเป็นเครื่องมือจัดการคนที่เห็นต่างกับรัฐบาล เพราะมีหนึ่งในข้อกำหนดของมาตรา 9 ของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระบุเอาไว้ว่า
“ห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อัพเดท "พรก.ฉุกเฉิน" "เคอร์ฟิว" "คำสั่ง ศบค." ล่าสุดที่นี่
เผยต่อ “พรก.ฉุกเฉิน” แต่ "ยกเลิกมาตรา 9" ไม่ห้ามชุมนุม-ใช้คุมโรคเท่านั้น
ปมร้อน “พรก.ฉุกเฉิน” กลัวเชื้อโรค หรือ กลัวกฎหมาย
ต่อ “พรก.ฉุกเฉิน” อำนาจเบ็ดเสร็จยังอยู่ที่ “บิ๊กตู่” 100%
หากใครฝ่าฝืนจะเจอบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนที่ไม่ปฏิบัติตาม พรก.ฉุกเฉิน ตามมาตรา 18 แห่ง พรก.ฉุกเฉิน จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
จึงทำให้รัฐบาลยกเลิกข้อกำหนดนี้ในพรก.ฉุกเฉิน คือ คลายล็อกให้มีการชุมนุมได้ตามที่รัฐธรรมนูญรองรับสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ทว่าการชุมนุมทุกการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมประเภทใดก็ต้องอยู่ภายใต้ “พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558” ซึ่งเป็นกฎหมายปกติที่มีอยู่เดิม
ก็มิใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ เพราะหัวใจของกฎหมายฉบับนี้ คือ ต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุมสาธารณะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
เพราะถ้าจะจัดการชุมนุมสาธารณะ แกนนำต้องแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ต้องระบุวัตถุประสงค์ และวัน ระยะเวลา และสถานที่ชุมนุม ที่สำคัญแกนนำชุมนุม ต้องดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่ให้เกิดการขัดขวางต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และต้องให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ
และมีข้อควรรู้และต้องปฏิบัติให้ได้ด้วยว่า “ต้องไม่ปราศรัยหรือจัดกิจกรรมในการชุมนุมโดยใช้เครื่องขยายเสียงในระหว่างเวลา 24.00 น. ถึงเวลา 06.00น. ของวันรุ่งขึ้น ไม่เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00น. ถึงเวลา 06.00น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน”
หากฝ่าฝืน เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้เลิกการชุมนุม หรือร้องขอต่อศาลแพ่ง หรือศาลจังหวัด ที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ เพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมนั้นได้
เมื่อไปดูบทกำหนดโทษแล้ว ก็ไม่ได้เบากว่า พรก.ฉุกเฉินเลย โทษสูงสุด ผู้จัดการชุมนุมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ