วันที่ 24 ก.ค.2563 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณีมีกระแสข่าวว่าพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะมานั่งในตำแหน่งรมว.มหาดไทย ว่า ต้องบอกให้สังคมรู้การจะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ปรับแล้วต้องทำงานได้
“สำหรับผมแล้วหลายคนน่าจะทราบประวัติมาตั้งแต่เด็กดังนั้น ไม่ต้องฟังเสียงวิจารณ์แต่ขอให้ฟังผมเท่านั้น พร้อมยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้ง เพราะในอดีตครั้งรับราชการทหารก็อยู่บ้านหลังเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกันนับสิบปี จะปรับกันยังไงผมเฉยๆ มันเลยขั้น ผมอยู่บ้านหลังเดียวกัน ทานข้าวหม้อเดียวกันมาเป็นสิบปีผมเฉยๆ นายกฯ จะเห็นความจำเป็นต้องเอาใครเข้า ใครออก รวมถึงผมด้วย จะต้องสับใครมาผมเฉยสุด ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่มีอะไรในใจ แล้วพล.อ.ประวิตร เป็นทั้งผู้บังคับบัญชา เป็นทั้งพี่ นอนบ้านเดียวกัน มันเลยขั้น ผมเฉยๆมาก ท่านไม่ต้องกลัวว่าจะมีอะไร ไม่มีเลย ท่านจะมาหรือท่านจะอยู่ ผมสบายใจที่สุด ขอให้นายกฯ บริหารประเทศได้" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันเดียวกัน ที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พล.อ.อนุพงษ์ เป็นประธานมอบทะเบียนบ้านให้ชาวชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร โดยมี นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พลโท ธรรมนูญ วิถี แม่ทัพภาคที่ 1 นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวชุมชนกว่า 200 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ปรับครม.’ กับสัญญาณเกียร์ว่าง
ปรับ ครม. "สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" ลาออกบอร์ด ปตท.-PTTGC นั่งรมว.พลังงาน
"โผ ครม." ชัดแล้ว 'ปรีดี ดาวฉาย' ลาออก KBANK รับตำแหน่งรมว.คลัง
ความเหนียวแน่น 3 ป. การถอยร่นของ 2 มิตร
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะ ลงเรือที่ท่าเรือวัดเสมียนนารี เพื่อตรวจความคืบหน้าการปรับทัศนียภาพคลองเปรมประชากร พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการงานพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองเปรมประชากร ก่อนจะเป็นประธานในการมอบทะเบียนบ้าน จำนวน 20 หลัง ในเฟสแรก ซึ่งชุมชนประชาร่วมใจ 2 เป็นชุมชนแรกจาก 32 ชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 6 หมู่ในจังหวัดปทุมธานี
ทั้งนี้ รวมกลุ่มเป้าหมายการดำเนินการโครงการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรทั้งสิ้น 6,386 ครัวเรือน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ซึ่งเห็นชอบแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยประกอบด้วยการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ
(1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การสร้างเขื่อนและอุโมงค์ระบายน้ำ ดำเนินการโดยสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย
(2) การพัฒนาชุมชนริมคลองหรือการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(3) การสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชน ซึ่งเป็นภารกิจร่วมของทุกหน่วยงาน โดยการสนับสนุนของกองทัพภาคที่ 1
(4) กฎหมายและการขับเคลื่อนงานการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากรใช้แนวทางโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.
โดยให้ชุมชนรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เพื่อเป็นกลไกในการบริหารโครงการ เช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ บริหารงบประมาณที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ ทั้งงบอุดหนุนและการใช้สินเชื่อเพื่อปลูกสร้างบ้านจาก พอช. บริหารจัดการสินเชื่อของสมาชิกรายครัวเรือน และบริหารชุมชนในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้นอกจาก พอช.แล้ว ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำเร็จได้ตามแผน ได้แก่ กรมธนารักษ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ จังหวัดปทุมธานี สำนักงานเขตที่ดูแลพื้นที่ การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง โดยมีกองทัพภาคที่ 1 ให้การสนับสนุนในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการลงเสาเอกบ้านเฟสแรก (โซน 4) จำนวน 20 หลัง ปัจจุบันชุมชนก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ 20 หลัง ซึ่งสมาชิกจะเริ่มเข้าอยู่อาศัยตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2563 ส่วนที่เหลืออีก 173 หลัง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2563 จำนวน 164 หลัง และเดือนธันวาคม 2563 จำนวน 9 หลัง
พลเอก อนุพงษ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับชาวชุมชน ถือเป็นวันดีอีกวันหนึ่งที่ได้ร่วมเป็นเกียรติในการมอบทะเบียนบ้านให้กับสมาชิกชุมชนริมคลองเปรมประชากร จำนวน 20 ครัวเรือน ดังนั้น การจัดกิจกรรมในวันนี้ ถือว่าเป็นก้าวสำคัญนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ เป็นการแสดงความร่วมมือ ร่วมแรงและร่วมใจและทำให้ประชาชนมีความสุขตามความตั้งใจของรัฐบาลที่ผลักดันนโยบายรัฐบาลในเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับคนชุมชนริมคลอง ชุมชนประชาร่วมใจ 2 ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรซึ่งเปลี่ยนจากผู้รุกล้ำลำน้ำสาธารณะมาเป็นผู้อยู่อาศัยที่ถูกต้องตามกฎหมาย
และรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในเรื่องการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนจากฐานราก การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้ชาวบ้านมีที่อยู่อย่างถูกกฎหมาย ถือเป็นการสร้างชุมชนที่น่าอยู่ นอกจากการปลูกสร้างบ้านแล้วชุมชนยังมีแผนที่จะพัฒนาด้านอื่นๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คลองเปรมประชากรได้กลับมาทำหน้าที่คลองสายหลักและมีสภาพแวดล้อมที่ดี