มท.1สั่งทุกจังหวัด รับมือพายุ"ซินลากู"ตามแผนเผชิญเหตุ

03 ส.ค. 2563 | 05:28 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2563 | 12:32 น.

มท.1สั่งผู้ว่าฯทุกจังหวัด รับมือพายุ "ซินลากู" พร้อมดำเนินการตามแผนเผชิญเเหตุ4ข้อ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา

 วันที่3 ส.ค.2563 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศ ฉบับที่ 8 ว่าเมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 2 สิงหาคม 2563 พายุระดับ 3 (โซนร้อน ซินลากู) ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามแล้ว และจากการติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากกรณีพายุซินลากู พบว่าพายุดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ในหลายพื้นที่ และยังส่งผลให้เกิดคลื่นลมแรงในทะเลฝั่งอ่าวไทยและในฝั่งอันดามัน

 

พลเอก อนุพงษ์ กล่าวว่า เพื่อให้การรับมือผลกระทบจากกรณีพายุซินลากูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการตามแนวทางการเผชิญเหตุ ได้แก่ 1) เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ให้ติดตามการคาดการณ์ลักษณะอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำในพื้นที่ ทำการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์และแจ้งเตือนภัยให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยและให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยถึงในระดับชุมชน หมู่บ้าน ตลอดจนสร้างการรับรู้แนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย ช่องทางการรับความช่วยเหลือกับภาครัสำหรับในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล ต้องประกาศสั่งห้ามเรือเล็กออกจากฝั่ง พร้อมประสานกองทัพเรือภาคเร่งให้ความช่วยเหลือเรือประมงที่ออกเดินเรือไปก่อนประกาศ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทุกคน

 

2) อพยพประชาชนเมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดอุทกภัย ดินโคลนถล่มในพื้นที่ โดยให้ฝ่ายปกครองและอปท. ดำเนินการตามแผนการอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยให้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ ประชาชนจิตอาสา เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ พร้อมจัดให้มีสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพ การแจกจ่ายถุงยังชีพให้ครอบคลุมทั่วถึง และจัดตั้งโรงครัวพระราชทานเพื่อประกอบอาหารเลี้ยงประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

 

3) เมื่อสถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น อาทิ ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร สิ่งสาธารณประโยชน์ สาธารณูปโภค เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูตามระเบียบโดยเร่งด่วนต่อไป 

 

4) ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากพายุซินลากู สรุปสถานการณ์และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบอย่างต่อเนื่องทุกวันจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติหรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง