"กองทัพเรือ" ไขปมทำไมต้องซื้อเรือดำน้ำ

24 ส.ค. 2563 | 10:46 น.

“กองทัพเรือ” แจงยิบ ซื้อเรือดำน้ำจีน ใช้งบคุ้มค่า คำนึงถึงผลประโยชน์ชาติ ดูแลความมั่นคงทางทะเลมูลค่ากว่า 24 ล้านล้านบาท อัด นักการเมือง ใช้สร้างความเกลียดชังให้กองทัพ

ในการแถลงข่าวชี้แจงกรณี กองทัพเรือ ซื้อเรือดำน้ำจีน 3 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย พล.ร.ท.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ พร้อมด้วย พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม เสนาธิการทหารเรือ, พล.ร.ท.ธีรกุล กาญจนะ ปลัดบัญชีทหารเรือ และ พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการกองทัพเรือ ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ และน.อ.ธาดาวุธ ทัดพิทักษ์กุล รองผอ.สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ได้ยืนยันถึงความจำเป็นและเหตุผลสำคัญในการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เพื่อใช้การดูแลความมั่นคงทางทะเลของประเทศมูลค่ากว่า 24 ล้านล้านบาทของไทย ย้ำชัด ทยอยจ่ายไม่ใช่จ่ายก้อนเดียว 22,500 ล้านบาท   

 

เริ่มจาก พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า การใช้เงิน 22,500 ล้านบาทไม่ได้จัดซื้อในปี 2564 ครั้งเดียว แต่เป็นแบ่งจ่ายใน 7 ปี ดังนั้น การกล่าวหาเช่นนี้ถือเป็นการสร้าง ความเกลียดชังให้สังคม เรื่องนี้เป็นความลับของราชการ รัฐบาลได้จัดหางบประมาณมา ช่วยเหลือและแก้ปัญหาประชาชนทุกด้าน โดยการนำเนื้อหา การจัดซื้อมาโจมตีและให้ข่าวที่ผิด ทั้งใช้เงินฟุ่มเฟือย ถือเป็นเรื่องการเมืองและเห็นแก่ตัวที่สุด จะยอมให้นักการเมืองนำเรื่องไม่จริงมาสร้างความเดือดร้อนทำไม จึงขอให้หยุดทำให้ประชาชนเกลียดชังกองทัพ
 

จากนั้น พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม เสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า นักการเมืองบางคนนำข้อมูลออกมาแถลงบางประเด็นไม่ครบถ้วน มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน อาจหวังผลทางการเมืองเพื่อให้กระทบรัฐบาล เกี่ยวข้องความมั่นคง จึงจำเป็นต้องนำข้อเท็จจริงมาชี้แจงให้รับทราบ

 

การมีเรือดำน้ำ ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญในการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลมูลค่ากว่า 24 ล้านล้านบาททางทะเล มีความสำคัญและจำเป็น ซึ่งกองทัพได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้และได้จัดทำโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ซึ่งที่ผ่านมามักถูกโยงเป็นประเด็นทางการเมืองมาตลอด  ซึ่งตามโครงการจัดหาต้องมี 3 ลำโดยผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีแล้วจึงนำมาสู่กระบวนการจัดหาเรือดำน้ำ ลำแรกเมื่อปี 2560 ซึ่งลำแรกนี้จะเข้าประจำการในปี 2566

 

ด้าน พล.ร.ท.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ ได้เปิดวีดิทัศน์ซึ่งเป็นวีดิทัศน์ที่ฉายในการประชุมอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ พร้อมกล่าวว่า กว่า 69 ปีแล้วที่ไทยไม่มีเรือดำน้ำ แต่รอบบ้านของเรายังมีพื้นที่พิพาท การมีเรือดำน้ำเพื่อให้เรามีกำลังเรือที่สมดุลและสมบูรณ์ ซึ่งได้เริ่มจัดซื้อได้ในปี 2560 พร้อมฉายภาพให้เห็นว่า กองทัพเรือของไทยนั้น ต้องดูแลพื้นที่ในทะเลจีนใต้ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของไทย หากเกิดการปะทะขึ้น แล้วไทยไม่มีกำลังเข้มแข้งเพียงพอ ผลประโยชน์ชาติมูลค่า 24 ล้านล้านบาทจะถูกกระทบอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะเชื่อใจได้อย่างไรว่า ในทะเลจีนใต้จะไม่มีเหตุการณ์นองเลือด แต่จะเมื่อใดนั้นก็ต้องประเมินกันต่อไป

 

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า เราสั่งจัดซื้อเรือ ณ วันนี้ อีก 6 ปีจึงจะได้รับ ลงนามวันนี้รับปี 2570 การดำเนินการต่อรองผลประโยชน์ของชาติ ถ้าไม่มีกำลังที่เข้มแข็ง คิดดูว่า อำนาจการต่อรองของเราจะมีมากหรือน้อยอย่างไร  ตัวอย่างง่ายๆ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา มีเรือจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาค้นหาลาดตระเวนค้นหาชาวโรฮิงญาในประเทศไทยฝั่งทะเลอันดามัน คำถามถามว่า เขาเกรงใจเราหรือไม่ เขาล่วงล้ำลำน้ำสิทธิอธิปไตยของไทยหรือไม่ ถามว่า อีก 7 ปีข้างหน้าถ้าเพื่อนบ้านเขามีศักยภาพมากกว่าเราถึงเวลานั้นเราจะเจรจาได้อย่างไร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ทร.เดินหน้าซื้อ"เรือดำน้ำ"ชะลอจ่ายเงินงวดแรก

ผวา“เรือดำน้ำ” เติมเชื้อไฟการเมือง เสนอกมธ.ทบทวน

จัดหนัก "เรือดำน้ำ" เพื่อไทย แฉพิรุธ ไม่ใช่สัญญาจีทูจี

งบ "ซื้อเรือดำน้ำ" 2.2 หมื่นล้าน ใช้ทำอะไรได้บ้าง เช็กที่นี่

 

กองทัพเรือ ยืนยันว่า ผลประโยชน์ของชาติ 24 ล้านล้านบาทางทะเลนั้น วงเงินจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2-3 วงเงินจำนวน 22,500 ล้านบาท  โดยชำระในปี 2564 จำนวน  3,925 ล้านบาทนั้น เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ทางทะเลเป็นเพียง 0.093 % เท่านั้น จึงขอยืนยันว่า กองทัพเรือ ได้พิจารณาอย่างรอบครอบและมีความคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจและทางด้านงบประมาณของกองทัพอย่างเต็มที่

กองทัพเรือมีหน้าที่ดูแล ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลโดยดูแลเขตแดนทางทะเล การจัดซื้อจัดอุปกรณ์เป็นไปตามขั้นตอน วัตถุประสงค์ของกองทัพชัดเจนว่า ได้ทำตามหน้าที่ของเรา ทุกทบวงกระทรวงกรม ล้วนมีภาระหน้าที่ มีงบประมาณของตัวเองที่จะต้องทำภารกิจของชาติให้สำเร็จในทุกส่วน เพราะฉะนั้น การนำเรื่องนี้ไปโจมตี ไปเป็นเหยื่อทางการเมือง ทำให้เกิดความวุ่นวาย การให้ข่าวผิดๆ ตั้งแต่กระบวนการจัดทำที่บอกว่า จีทูจีเก๊ รวมถึงที่ระบุว่า ใช้งบจำนวนมากและฟุ่มเฟือยนั้น เป็นการให้ข่าวที่เห็นเรื่องการเมืองเป็นหลัก เอาไปใช้เป็นประโยชน์ทางการเมืองอย่างเห็นแก่ตัวมากที่สุด

 

ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนว่า จะยอมให้นักการเมืองนำเรื่องเหล่านี้ จะยอมให้นักการเมืองนำเรื่องที่เป็นความจริงเหล่านี้ไปสร้างให้ความเดือดร้อนให้ประเทศไทยทำไม ยืนยันว่า ตัวเลขงบประมาณที่สูงกว่า 22,500 ล้านบาทนั้น เป็นการจัดซื้อตามวงรอบปีงบประมาณ ไม่ใช่การจ่ายก้อนเดียวทั้งหมด

 

ขณะที่พล.ร.ท.ธีรกุล กาญจนะ ปลัดบัญชีทหารเรือ ชี้แจงเรื่องของขั้นตอนและการชำระเงินรวมถึงการตั้งงบประมาณที่นำมาใช้เพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำว่า เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดหาเรือดำน้ำ จำนวน 3 ลำ มูลค่ารวม 36,000 ล้านบาทว่า ที่ผ่านมาได้มีการจัดหาเรือดำน้ำไปแล้ว 1 ลำ ในปีงบประมาณ 2560 มูลค่า 13,500 ล้านบาท แบ่ง ทยอยจ่ายเป็นเวลา 7 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2560-2566

 

สำหรับการจัดหาเรือดำน้ำอีก 2 ลำในครั้งนี้เป็นการจัดหาเรือดำน้ำให้ครบ 3 ลำตามโครงการที่ได้รับการอนุมัติไว้ ไม่ใช่การผูกพันงบประมาณรอบใหม่ในปี 2564 แต่เป็นรายการในโครงการของกองทัพเพิ่มใหม่ในปีงบประมาณ 2563-2569 ระยะเวลา 7 ปี เป็นการทยอยตั้งงบประมาณรายปีที่กองทัพเรือได้รับตามปกติมิได้มีการขอรับงบประมาณเพิ่มเติมแต่อย่างใด โดยในรายงานดังกล่าวนี้ได้กำหนดวงเงินรายปีไว้ ดังนี้

 

ปีงบประมาณปี 2563 กำหนดไว้ จำนวน 3,375 ล้านบาท งบประมาณปี 2564 จำนวน 3,925 ล้านบาท งบประมาณปี 2565 จำนวน 2,640 ล้านบาท งบประมาณปี 2566 จำนวน 2,500 ล้านบาท งบประมาณปี 2567 จำนวน 3,060 ล้านบาท งบประมาณปี 2568 จำนวน 3,500 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2569 ตั้งไว้จำนวน 3,500 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 22,500 ล้านบาท

 

แต่ในช่วงโควิด-19 ระบาด จึงประสานไปยังจีนและขอคืนงบประมาณก้อนแรกปี 63 ที่ตั้งไว้แล้ว 3,375 ล้านบาท โดยเป็นการชะลอโครงการ รวมถึงโครงการอื่น เพื่อใช้แก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งกองทัพเรือได้ปรับปรุงเนื้อหาใหม่ โดยมีกำหนดลงนามรัฐต่อรัฐในเดือนก.ย. โดยการจัดงบของกองทัพเรือ ทำโดยความรอบคอบและประหยัด ตระหนักถึงงบของชาติและตั้งงบในกรอบ โดยยืนยันงบ 22,500 ล้านบาท เป็นการจ่ายใน 7 ปี โดยใช้จ่ายตามงบประจำปี ด้วยการตัดงบจัดซื้อยุทโธปกรณ์อื่นลง

 

 “การตั้งงบประมาณนี้เป็นการตั้งประมาณที่มีจำกัดและเป็นไปตามแนวทาง ระเบียบและหลักเกณฑ์การตั้งงบประมาณ ขอเรียนว่า การจัดทำงบประมาณของกองทัพเรือนั้น เป็นไปตามหลักการ และขั้นตอน กระทำโดยความรอบคอบ และยึดหลักประหยัด และคำนึงถึงความคุ้มค่าเป็นสำคัญ และอยู่ในกรอบงบประมาณของกองทัพที่ได้รับการจัดสรรมา ขอยืนยันว่า งบประมาณจำนวน 22,500 ล้านบาทนั้นเป็นการทยอยจ่ายซึ่งเป็นไปตามระเบียบและขั้นตอนต่างๆที่มีอยู่ทุกประการ”

 

ขณะที่น.อ.ธาดาวุธ ทัดพิทักษ์กุล รองผอ.สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ กล่าวว่า ตามที่มีการระบุว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 1 ส่อเป็นโมฆะนั้น ยืนยันว่า กองทัพเรือไม่พูดเท็จต่อประชาชนและเราไม่ได้อยากซื้อแล้วจะซื้อ กองทัพเรือมียุทธศาสตร์และวิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เรือดำน้ำมีความจำเป็นต่อประเทศในการสร้างความมั่งคั่งและผาสุข โดยเฉพาะสมบัติทางทะเล ไม่ได้คิดแค่ปีสองปีถึงจัดซื้อเรือดำน้ำเพื่อเสริมอำนาจการต่อรองและมีกำลังไปคุยกับคนอื่นได้ ก่อนเสนอครม.และเห็นชอบซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำเมื่อปี 2558 ก่อนองค์กรต่างๆจะประสานงานและพิจารณา โดยเห็นว่าเรือจากจีนคุ้มค่าสุด

 

ส่วนกรณีที่บอกว่า เป็นจีทูจีปลอมนั้น ถือเป็นการกล่าวเท็จและให้ข้อมูลที่ผิด ขอยืนยันว่า เป็นจีทูจีจริง ขอเรียกร้องอย่าสร้างความแตกแยก รัฐบาลมองว่า การซื้อเรือดำน้ำแบบจีทูจีเป็นความเห็นชอบและตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน ก่อนสั่งการให้กองทัพเรือดำเนินการ และเมื่อวันที่ 1 พ.ค.60 ผบ.ทร.ในขณะนั้นจึงอนุมัติให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือในตอนนั้นไปลงนาม ซึ่งมีการมอบอำนาจชัดเจน ขณะที่ในส่วนของจีนมอบอำนาจให้บริษัท ซีเอสโอซี ที่รับมอบอำนาจมาลงนามร่วมกันกับทางการไทยอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น คนที่มาลงนามได้รับมอบอำนาจมาจึงไม่ใช่จีทูจีปลอม ยืนยันว่า กองทัพเรือไม่เคยพูดเท็จกับประชาชน
 

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ในการแถลงข่าวครั้งนี้ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และประธานวิปพรรคก้าวไกล และนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล รองประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าร่วมฟังการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย