“ไอ้ไข่” กับยุทธศาสตร์ Soft Power ของไทย

06 ก.ย. 2563 | 03:49 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2563 | 11:22 น.

“กรณ์ ” หัวหน้าพรรคกล้า เผยแนวคิด “ไอ้ไข่” กับยุทธศาสตร์ Soft Power ของไทย

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ไอ้ไข่”กับยุทธศาสตร์ Soft Power ของไทย" โดยระบุว่านครศรีธรรมราชช่วงนี้คึกคักจนผมตกใจ ตอนแรกก็นึกเอะใจว่าทำไมตั๋วเครื่องบินแพงกว่าปกติ และเต็มหมดเกือบทุกเที่ยว เมื่อวานนี้พอมาถึงสนามบินนครฯ คนแน่นเอี๊ยด คณะเราแวะทานข้าวที่ร้าน ‘ขนมจีนเมืองคอน’ ทุกโต๊ะเต็มหมดและมีคนรอคิว เมื่อเราทานเสร็จ (อร่อยมาก) บ่ายสอง ปรากฎว่าคิวยังกลับยาวกว่าเดิม

 

นี่คืออิทธิพลปรากฎการณ์วัด ‘ไอ้ไข่’ บวกกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆอีกมากมาย (เราได้รับแจ้งว่าโรงแรมที่ขนอมก็เต็มหมด) ที่ทำให้ช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวมานครฯกันเดือนละเกือบ 400,000 คน

 

ขากลับพอดีเจอรุ่นน้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดยุทธศาสตร์สถาบันการเงินแห่งหนึ่ง (เบน สุวรรณคีรี - ลูกชาย ดร. ไตรรงค์) เลยได้แลกเปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจกัน 

 

เราคุยกันว่าตอนนี้สภาวะเศรษฐกิจแตกต่างกันระหว่างแต่ละท้องถิ่นและระหว่างแต่ละประเภทธุรกิจอย่างมาก

โดยสรุปคือพื้นที่ไหนที่พึ่งพากำลังซื้อจากต่างประเทศมากหน่อยก็จะลำบาก (ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น) แต่พื้นที่อย่างนครศรีธรรมราชกลับได้รับผลกระทบน้อย ส่วนหนึ่งเพราะระบบเศรษฐกิจค่อนข้างปิด (ซึ่งในยุค Old Normal แปลว่า ‘ล้าหลัง’) และตอนนี้ราคายางก็อยู่ในระดับที่ดี ราคาผลผลิตเกษตรอื่นๆก็ใช้ได้ และจังหวัดได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวในประเทศ

 

เบนเล่าว่านโยบายสถาบันการเงินในการดูแลลูกค้าช่วงนี้เหวี่ยงแหไม่ได้ หรือจะกำหนดโดยสำนักงานใหญ่เพื่อใช้กับทุกพื้นที่ก็ไม่ได้ สำคัญที่ต้องฟังผู้บริหารระดับท้องถิ่นเพื่อเข้าใจสถานการณ์และกำหนดนโยบายให้แม่นยำและเหมาะสม

 

ผมคิดว่านโยบายเศรษฐกิจของประเทศก็เหมือนกันครับ รัฐต้องศึกษาสถานภาพของแต่ละจังหวัด และพร้อมที่จะมีความยืดหยุ่นในการกำหนดนโยบายให้กับแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญคือผู้บริหารต้องขยันลงพื้นที่เพื่อรับรู้สภาพความเป็นจริง

ความนิยมในนครฯวันนี้สะท้อนถึงอิทธิพล ‘Soft Power’ (พลังสร้างสรรค์) ที่ผมมองว่ามีความสําคัญต่อประชาชนและประเทศอย่างมากจากนี้ไป

 

นครฯ มีของดีเยอะ สถานที่เที่ยว วัดวาอาราม แหล่งธรรมชาติ อาหารอร่อย อากาศดี เส้นทางการเดินทางที่สะดวก

 

ในภาพใหญ่นี่คือโอกาสของประเทศ และนโยบายที่ทันยุคสมัยต้องเข้าใจที่จะส่งเสริมและขยายโอกาสจากของดีๆ ที่เรามี